ส.อ.ท.ออกโรงตอกย้ำรัฐบาลถึงแนวทางบริหารจัดการค่า Ft งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 66) ควรปรับตัวลดลง โดยมองว่าทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต้องไม่เกิน 4.72 บาท/หน่วย
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังศึกษาตัวเลขที่เหมาะสมของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด 2/66 (พ.ค.-ส.ค. 66) หลังจากงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ได้ปรับราคาขึ้นมา 13% โดยค่าไฟฟ้าประเภทอื่นๆ (ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ฯลฯ) เฉลี่ยมาอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.72 บาท/หน่วย ดังนั้น ส.อ.ท.เห็นว่าแนวทางในการบริหาร Ft งวด 2/66 ควรเป็นดังนี้
1) ปรับลดค่า Ft ของภาคธุรกิจให้กลับมายืนราคาไม่เกิน 93 สตางค์ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าของภาคธุรกิจไม่สูงกว่า 4.72 บาท/หน่วย เหมือนงวด 3/65 (ก.ย.-ธ.ค. 65) ด้วยเหตุผลปัจจัยบวกของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในงวด 2/66 เทียบกับงวด 1/66 ไม่ว่าจะเป็น…ค่าพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG, ดีเซล, น้ำมันเตา และอื่นๆ ที่ลดลงของตลาดโลก ตลอดจน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก๊าซธรรมชาติ (NG) ในอ่าวไทย ที่จะมีปริมาณหรือ Supply มากขึ้นในกลางปีนี้ ตามลำดับ
2) การสนับสนุนจากภาคนโยบาย และผู้เกี่ยวข้องที่ต้องจัดสรร NG จากอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าภายในประเทศให้เต็มที่ รองรับ peak load ในช่วงฤดูร้อนนี้ มากกว่าไปสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการส่งออก และมีทางเลือกอื่นรองรับ
3) ภาคครัวเรือนของประชาชน ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าเดิมที่ 4.72 บาท/หน่วย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง ที่ภาครัฐเคยตรึงราคาด้วยภาคอุตสาหกรรม ก็ห่วงใยผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเช่นกัน ทั้งนี้ ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการพิจารณาระดับราคาค่าไฟฟ้า งวด 2/66 ของภาคครัวเรือน
4) การชำระหนี้ ตลอดจนปัญหาสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับผิดชอบการผลิตและราคาไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ก็ควรประคองการคืนหนี้จากค่า Ft ในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยสถานการณ์ที่ต้นทุนพลังงานลดลง ตามลำดับ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งคืนหนี้ให้ กฟผ.จากค่า Ft เมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมที่กำลังเจอภาวะการชะลอตัวจากการส่งออกตามภาวะตลาดโลก
"มุมมองดังกล่าวได้ส่งไปยังภาครัฐ และ กกพ. ด้วยเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่มีโอกาสได้ร่วมประชุมหารืออย่างพร้อมเพรียง 3 ฝ่าย (ภาคนโยบาย + กกพ. + กกร.) เพื่อแก้ปัญหาของประเทศร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ตามที่เคยคุยกันไว้เมื่อ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา" นายอิศเรศกล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาวิกฤตพลังงานและค่าไฟฟ้าของประเทศครั้งนี้ได้หมักหมมปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำของประเทศไว้มากมายเอกชนรอวันที่จะมีผู้รับผิดชอบ ที่กล้าหาญ และจริงใจ ในการหาทางออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ ตลอดจนไม่อยากเห็นภาวะที่เอกชน และประชาชนต้องมานั่งลุ้น และภาวนา ตลอดจนพึ่งพิงปัจจัยบวกของค่าไฟฟ้าจากราคาพลังงานโลก ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยน ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งๆ ที่ยังมีทางออกที่สามารถพึ่งพิงตัวเองและป้องกันความเสี่ยงได้อย่างมากมายตามข้อเสนอที่เคยเสนอไปทั้งหมด แต่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและจริงจังจากผู้รับผิดชอบ