xs
xsm
sm
md
lg

พระวัดป่าชี้แผนผลิตไฟฟ้า 2022 ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน จี้เพิ่มสัดส่วนรัฐผลิตช่วยประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นกรณีการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2022) ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน ชี้จะให้ประมูล 40% ภาครัฐไม่ชนะเอกชน และทำให้ค่าไฟยิ่งแพงขึ้น เสนอรัฐบาลกำหนดสัดส่วน 50% ขึ้นไปเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า และรักษาค่าไฟฟ้าช่วยประชาชน

วันนี้ (24 ก.พ.) กรณีที่นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อเสนอแนะการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ให้ไปพิจารณาความชัดเจนเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนในระบบ และกำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ส่งผลให้การจัดทำ PDP 2022 ต้องล่าช้าออกไปจากแผนเดิมที่วางไว้ เพราะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลมาปรับปรุงโดยจะพยายามจัดทำให้เสร็จภายในไม่เกินกลางปีนี้ เบื้องต้นกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้านี้อาจจะเป็น เอกชน 30% การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 30% และที่เหลือ 40% นำมาประมูล

พระปัญญาวชิรโมลี นพพร เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่จะให้ประมูล 40% นั้น หากภาครัฐเข้าประมูลก็ไม่ชนะเอกชน และทำให้ค่าไฟยิ่งแพงขึ้น เพราะแผนการผลิตยังแบ่งกำไรให้เอกชน ซึ่งตนเห็นว่าสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบไม่ควรมากเกินไป เพื่อให้การดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทำได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่น่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ อย่างน้อยก็ในสัดส่วนที่มากกว่าเอกชน การที่การไฟฟ้าของรัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าเอกชน ทำให้การบริหารจัดการราคาค่าไฟฟ้าของประเทศเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถสั่งการหรือควบคุมเอกชนที่ทำสัญญาไปแล้วได้

ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานรัฐที่ถูกกำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดังนั้น กำไรที่ได้มาจะถูกกำกับตามหลักการ Return on Invested Capital หรือ ROIC เท่าที่ทราบหากเทียบกับกำไรของเอกชน กฟผ.จะทำกำไรได้ไม่เกิน 5% เท่านั้น และกำไรที่ได้ต้องส่งคืนกลับเข้ารัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ส่วนเอกชนนั้นสามารถทำกำไรได้ที่ 10-20% หรืออาจมากกว่านั้น และกำไรที่ได้ก็จะคืนกลับไปยังผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น และเจ้าของบริษัท แม้ว่าสัดส่วนกำลังการผลิตของ กฟผ.ที่เป็นโรงไฟฟ้าของรัฐมีเพียง 30% แต่การนำส่งรายได้เข้าประเทศกลับสูงเป็นอันดับต้นๆ มาโดยตลอด ทำให้รัฐสามารถนำเงินมาพัฒนาประเทศได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่อีก 60% ได้แค่เศษเงินจากกำไรที่เอกชนจ่ายมาในรูปของภาษี ทั้งที่เงินจากกำไรของเอกชนสามารถนำมาช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่านี้

"กลายเป็นว่าการออกนโยบายให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของเอกชนมีมากกว่าของรัฐนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่กี่คน เมื่อเทียบกับอีกหกสิบกว่าล้านคน" พระปัญญาวชิรโมลี นพพร ระบุ

พระปัญญาวชิรโมลี นพพร กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 และช่วงที่เกิดวิกฤตพลังงาน กฟผ.ต้องกู้เงินมาช่วยตรึงค่าไฟไม่ให้สูงขึ้น ขณะที่เอกชนไม่เห็นข่าวว่าจะลดราคาหรือมาแบกรับค่าใช้จ่ายในการตรึงค่าไฟ มีแต่ข่าวเอากำไรอย่างเดียว นอกจาก กฟผ.โดนลดทอนสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแล้ว ก็ยังเจอศึกหนักเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงอีก เนื่องจากประเทศไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้ากว่า 70% นโยบายนำเข้า LNG ที่เป็นข่าวเมื่อปลายปี 65 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องจ่ายค่านำเข้า LNG ราคาแพง กว่า 5.9 แสนล้านบาท และหากย้อนกลับไปปลายปี 62 เคยมีข่าว กฟผ.กำลังจะนำเข้า LNG ได้ราคาถูกแต่กลับมีการล้มประมูลจากเหล่าผู้มีอำนาจเหนือ กฟผ. อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ค่าไฟสูงขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประเด็นความมั่นคงระบบไฟฟ้า การรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้า อย่างน้อยรัฐควรจะมีสัดส่วนการผลิต 50% ขึ้นไปจึงจะเรียกว่าความมั่นคง แต่การกำหนดสัดส่วน รัฐ 30% เอกชน 70% หรือจะแบ่งย่อยไปอีกเป็นรัฐ 30% เอกชน 30% อีก 40% ไว้ให้รัฐกับเอกชนมาแข่งกัน เปรียบเสมือนความมั่นคงของรัฐในเรื่องพลังงาน ก็เหมือนมีกำลังทหารไว้รักษาค่าย ช่วยเหลือน้ำท่วม แค่ 30% แต่ให้บริษัทยามเอกชนมีกองกำลังติดอาวุธเพื่อความมั่นคงของประเทศ ตนไม่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าเพราะติดแผงโซลาร์เซลล์ แต่สงสารชาวบ้าน ไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. รู้หรือไม่ว่าว่าเงินกำไรที่เอกชนได้เขาส่งให้ประเทศเท่าไหร่ หรืออยากมีการแบ่งให้เอกชนจริงควรมีค่าไฟต่อหน่วยถูกกว่าโรงไฟฟ้าของรัฐผลิต และส่งเงินเข้าบำรุงประเทศมากกว่าหน่วยงานของรัฐ

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น