“ส.อ.ท.” เปิดข้อเสนอแนะ 4 ประเด็นฝากถึงรัฐที่จะสามารถบริหารค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันที่ กกพ.ประกาศงวด พ.ค.-ส.ค.ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะ 4 ประเด็นที่รัฐสามารถบริหารให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. 66 ลดต่ำเฉลี่ยกว่า 4.40 บาทต่อหน่วยได้จากปัจจุบันที่เห็นชอบให้เป็นอัตราเดียวที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ว่า ต้องการให้ภาครัฐช่วยพิจารณา 4 ประเด็นดังกล่าว ดังนี้ 1. สมมติฐานที่อนุรักษนิยม หรือ Conservative มากเกินไป ทำไมต้องเร่งคืนหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิม 3 ปีในงวดแรกเหลือ 2 ปีในค่าไฟงวด 2 ทั้งที่ภาวะราคาพลังงานทั่วโลกเริ่มเป็นขาลงซึ่งภาระหนี้ กฟผ.จะหมดเร็วกว่ากำหนดอย่างแน่นอน
2. เร่งช่วยลดต้นทุน ได้แก่ สัดส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าควรจะลดลงหรือไม่? ในเมื่อภาครัฐเคยแจ้งว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติ (NG) ราคาถูกจากอ่าวไทย จะเข้าสู่ระบบมากขึ้นตั้งแต่กลางปี 2566
3. ความชัดเจน และโปร่งใสของตัวเลขต้นทุน LNG. ; การใช้ราคา LNG นำเข้า ควรจะใช้ราคาล่าสุด ตามแผนการนำเข้า ในช่วง พ.ค.-ส.ค. 66 ไม่ควรใช้ราคาเฉลี่ย ตามกลไกเดิมๆ ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (ปัจจุบัน 13 เหรียญ)
4. ภาคนโยบายควรสนับสนุนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้แก่ 4.1 โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ควรมีนโยบาย หรือ แนวทางให้ กกพ.ทบทวนราคาค่า Ft งวด 2/66 (พ.ค.-ส.ค.) ด้วยเพราะยังพอมีเวลา ก่อนจะถึง พ.ค. 66 อีกกว่าร่วมเดือน โดยมองว่าไม่ถือเป็นการแทรกแซงเชิงนโยบาย หรือการหาเสียงใดๆ จากรัฐบาล (รักษาการ) เพราะเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ควรจ่ายค่าไฟฟ้าด้วยราคาที่เป็นธรรมกว่าที่ กกพ.ประกาศออกมา
4.2 ตัวเลขสมมติฐานทุกตัวที่จัดทำโดย หน่วยงาน Operators ที่เกี่ยวข้อง ในการนำมาคำนวณควรมองภาพทิศทางที่เป็นบวกต่อประชาชน และประเทศให้เต็มที่ และเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส เพราะระบบสะท้อนต้นทุนหรือ Cost plus ต่อค่า Ft มันคือภาระของผู้บริโภคไฟฟ้าทุกคน
"ภาครัฐ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีความกล้าหาญ และความจริงใจ โดยเน้นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยทุกคน มากกว่าการเกรงใจโรงไฟฟ้าเอกชน หรือไม่ อย่างไรครับ?" นายอิศเรศกล่าว