xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ชี้เป้าบะหมี่รส “ต้มยำ-ผัดไทย-ปูผัดผงกะหรี่” มีโอกาสส่งออกเกาหลีใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออก “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เจาะตลาดเกาหลีใต้ เผยรส “ต้มยำกุ้ง รสผัดไทย รสปูผัดผงกะหรี่” มีโอกาสสูง และควรเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น เหตุชาวเกาหลีนิยมบริโภคเป็นอาหารหลักไม่ใช่อาหารว่าง และเน้นวางจำหน่ายในไฮเปอร์มาร์เกตและร้านสะดวกซื้อ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับการรายงานจาก น.ส.ชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ถึงโอกาสในการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริโภคให้ชาวเกาหลีที่นิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติใหม่ๆ แทนรสชาติเดิมที่เป็นที่คุ้นเคยของชาวเกาหลีอยู่แล้ว โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่มีโอกาสในการขยายตลาดเกาหลี และมีแนวโน้มขยายตัวได้สูง คือ รสชาติเผ็ด และรสชาติของอาหารไทย เช่น รสต้มยำกุ้ง หรือผัดไทย หรืออาจจะพัฒนารสชาติใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นที่นิยมในตลาดเกาหลี เช่น ปูผัดผงกะหรี่ เนื่องจากจะเป็นจุดเด่นและสร้างความแตกต่างในตลาดเกาหลีได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ยังได้รายงานอีกว่า ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย สามารถเจาะเข้าสู่ตลาดได้แล้ว โดยสามารถหาซื้อได้ตามไฮเปอร์มาร์เกตของเกาหลี โดยมีสินค้า เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเส้นหมี่ขาว ในรูปแบบซองและรูปแบบถ้วย

นายภูสิตกล่าวว่า ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีโดยรวมมีการเติบโตอย่างมาก แต่ก็มีปริมาณการนำเข้าไม่มากนัก โดยสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าของเกาหลีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าของญี่ปุ่นและจีน ส่วนสินค้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของมูลค่าการนำเข้า โดยปี 2565 นำเข้าประมาณ 1.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.1% แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยก็มีโอกาสโดยพิจารณาเน้นการบุกตลาดให้มากขึ้น เน้นรสชาติที่เป็นอาหารไทยที่ได้รับความนิยมในเกาหลี และอาจปรับปริมาณต่อซองให้เพิ่มขึ้นเพื่อเหมาะต่อการบริโภคของชาวเกาหลี

นอกจากนี้ เนื่องจากเทรนด์ความสนใจในสุขภาพเพิ่มขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริโภคชาวเกาหลีจำนวนมากเลือกที่จะบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ลดโซเดียมและเลือกบะหมี่ชนิดที่ไม่ผ่านการทอด (Non-fried) ผู้ประกอบการไทยจึงอาจจะผลิตและส่งออกสินค้าบะหมี่เพื่อสุขภาพ และติดตามกระแสความนิยมต่างๆ อย่างใกล้ชิด

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายผ่านไฮเปอร์มาร์เกตและร้านสะดวกซื้อ ดังนั้น การร่วมมือทางธุรกิจกับผู้นำเข้าที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ที่ต้องการทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลีต้องให้ความสำคัญ และในการผลิตควรเพิ่มปริมาณในซองให้มากขึ้น เพราะชาวเกาหลีบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารไม่ใช่แค่อาหารว่าง


กำลังโหลดความคิดเห็น