ปลัดฯ ณัฐพลปลื้มกระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาแรง ดันยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าภายในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 รวม 9,234 คัน ย้ำ ก.อุตฯ สนับสนุนเต็มกำลัง ชี้ไทยเนื้อหอม ยักษ์ใหญ่รถยนต์อีวีจีนเตรียมลงทุนเพิ่ม
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ที่ปิดฉากลง (จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม-2 เมษายน 2566) ว่า บรรดาค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาร่วมออกบูทกว่า 40 ค่าย มีผู้เข้าชมงาน 1,620,459 คน และมียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 42,885 คัน เติบโตขึ้น 34.45% เมื่อเทียบจากปี 2565 ที่ผ่านมา โดยในจำนวนยอดจองล่าสุดของปีนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือรถยนต์อีวี อยู่ที่ 9,234 คัน คิดเป็น 21.53% จากยอดจองรถยนต์ทั้งหมดภายในงาน ซึ่งการที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายที่น่าสนใจ
ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ แบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุ รวมทั้งสิ้น 128 มาตรฐาน และมีการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ ศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งแรกในภูมิภาค ASEAN ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อการยกระดับมาตรฐานและการวิจัยพัฒนาทดสอบสมรรถนะยานยนต์และชิ้นส่วนต้นแบบ การทดสอบยางล้อ และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบมากขึ้น
รวมทั้งจัดทำ Eco Sticker หรือป้ายแสดงข้อมูลของรถยนต์ตามมาตรฐานสากล โดยข้อมูลในป้ายจะบ่งบอกคุณลักษณะที่สำคัญของรถยนต์ 5 ส่วน ได้แก่ สมรรถนะรถยนต์ ข้อมูลพื้นฐานของรถยนต์ ข้อมูลผู้ผลิต/นำเข้า รายการอุปกรณ์ที่ติดตั้งจากโรงงาน และราคาขายปลีก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของรถยนต์แต่ละรุ่นได้ โดยพิจารณาจากสมรรถนะในด้าน “สะอาด ประหยัด และปลอดภัย” ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2566 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีการพิจารณาออกใบ Eco Sticker สำหรับรถยนต์ไปแล้ว 17,136 ใบ
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท
“ในปี 2566 นี้ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยคึกคักมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะกลับมาเติบโต โดยเฉพาะกับตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่าปีที่ผ่านมา จากกระแสความสนใจของผู้บริโภคที่ให้การยอมรับและมีความเชื่อมั่นในรถยนต์อีวีมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาสามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สะอาด ประหยัด และปลอดภัย ซึ่งตลาดรถยนต์อีวีในไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน ล่าสุดผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน GAC AION ได้ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี และยังวางแผนขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ด้วย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว