xs
xsm
sm
md
lg

ยอดส่งออกรถยนต์ 2 เดือนแรกทะลุ 1.75 แสนคัน เพิ่มขึ้น 17.43%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยการผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ. 66) เพิ่มขึ้น 6.68% หลังได้รับชิปเพิ่มหนุนการส่งออก 2 เดือนแตะระดับ 175,311 คัน เพิ่มขึ้น 17.43% ขณะที่ยอดขายในประเทศสวนทางลดลง 4.73% จากการลดส่งมอบรถกระบะแต่มั่นใจงานมอเตอร์โชว์หนุนยอดขายได้ตามเป้า จับตา ดบ.ขาขึ้น วิกฤตแบงก์ใกล้ชิดหวั่นฉุดแรงซื้อ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์หากไม่บานปลายมองการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2567

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทุกประเภทรวมเดือน ก.พ. 66 มีทั้งสิ้น 165,612 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.39% รวม 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 66) ผลิตได้ 327,939 คัน เพิ่มขึ้น 6.68% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการได้รับเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เพิ่มจึงทำให้มีส่วนสำคัญในการผลิตเพื่อการส่งออกที่สูงขึ้นสะท้อนจากตัวเลขส่งออกรถยนต์เดือนก.พ. 66 อยู่ที่ 88,525 คัน เพิ่มขึ้น 11.42% รวม 2 เดือนส่งออก 175,311 คัน เพิ่มขึ้น 17.43%

สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ก.พ. 66 อยู่ที่ 71,511 คัน ลดลง 3.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 2 เดือนอยู่ที่ 137,130 คัน ลดลง 4.73% ปัจจัยหลักที่ลดลงมาจากยอดส่งมอบรถกระบะในประเทศน้อยลง โดยผู้ผลิตได้หันไปผลิตรถยนต์กะบะเพื่อเร่งส่งมอบสำหรับการส่งออกแทนเนื่องจากที่ผ่านมาได้ค้างส่งมอบเพราะปัญหาขาดแคลนชิป รวมไปถึงการจำหน่ายรถบรรทุกที่ลดลงที่คงต้องติดตามว่ามาจากปัจจัยใดแน่ ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นไปได้ว่ามีการนำเข้าในราคาต่ำมาจำหน่ายหรือไม่

“ถ้าดูจากยอดการผลิต 2 เดือนแรกปีนี้เราก็ยังมั่นใจว่าเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2566 ที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.53% จากปีก่อน แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน และยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน โดยเราคาดหวังว่างานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2023 ระหว่าง 22 มี.ค.-2 เม.ย. 66 จะมียอดจำหน่ายที่สูงกว่าปีก่อนหรือมากกว่า 4 หมื่นคัน ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่สูงขึ้นซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เป็นไปตามเป้า” นายสุรพงษ์กล่าว


สำหรับการส่งออกหลังได้รับชิปเพิ่มและสถานการณ์ชิปโลกเริ่มคลี่คลายตามลำดับจากการเปิดประเทศทำให้การทำงานที่บ้าน (Work from Home) น้อยลงความต้องการโน้ตบุ๊ก มือถือ ฯลฯ ลดต่ำจึงทำให้ชิปสามารถถูกจัดสรรมายังยานยนต์ได้ปกติ แต่สิ่งที่ต้องจับตาและยังเป็นกังวลในการส่งออกระยะต่อไปคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ล่าสุด 22 มี.ค.ที่ขยับอีก 0.25% วิกฤตธนาคารต่างประเทศ ที่จะกระทบต่อการถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความเข้มงวดของสถาบันการเงินในไทยเพื่อการปล่อยสินเชื่อที่จะกระทบต่อแรงซื้อได้ นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ใกล้ชิดหากปัญหาเศรษฐกิจโลกไม่ลุกลาม ภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขยายวงการผลิตรถยนต์ของไทยคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2567

นายสุรพงษ์ยังกล่าวถึงรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ที่เป็นเฉพาะในส่วนรถยนต์นั่งในประเทศเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ 5,402 คัน เพิ่มขึ้นจาก ก.พ. 65 ที่มีจำนวน 341 คัน หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1,484.2% รวม 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) อยู่ที่ทั้งหมด 8,331 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,283.9%

ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทแบบแบตเตอรี่ BEV 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 66) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 12,243 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 715.66% ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) 15,605 คัน เพิ่มขึ้น 60.58% รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ( PHEV) 2,210 คัน เพิ่มขึ้น 31.63% ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 28 ก.พ. 66 มีจำนวนทั้งสิ้น 44,294 คัน เพิ่มขึ้น 244.19% ประเภท HEV มีจำนวน 275,193 คัน เพิ่มขึ้น 33.47% ประเภท PHEV 44,596 คัน เพิ่มขึ้น 35.89 %
กำลังโหลดความคิดเห็น