xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.เคาะต่อสัญญา "โรงแรมเซ็นทรัลหัวหิน" อีก 30 ปี SRTA เร่งเจรจาผลตอบแทนเพิ่ม-เร่งโอนทรัพย์สิน 6,107 สัญญาใน พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.สั่ง SRTA เจรจาผลตอบแทนเซ็นทรัลต่อสัญญาเช่าโรงแรมหัวหินอีก 30 ปี พร้อมเร่งโอนทรัพย์สิน 6,107 สัญญาและที่ดินเปล่า 28 แปลง หวังสร้างรายได้เพิ่มจากปัจจุบัน 3,500 ล้านบาท/ปี  

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธานเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ได้พิจารณารายงานผลศึกษาการพัฒนาที่ดินบริเวณโรงแรมรถไฟหัวหิน ซึ่งบอร์ดได้มอบหมายให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ไปดำเนินการเจรจาผลตอบแทนบริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีชรีสอร์ท จำกัด ผู้เช่ารายเดิม ในการต่อสัญญาเช่าที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินของโรงแรมรถไฟหัวหิน ที่สถานีหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน เนื้อที่ 71.65 ไร่ ระยะเวลาบริหาร 30 ปี โดยมีเงื่อนไขลงทุนพัฒนาเพิ่มเติมช่วง 4 ปีแรก หากสามารถตกลงกันได้ เป็นไปตามผลการศึกษาให้รายงานผลต่อบอร์ดในเดือน พ.ค.นี้ 

รฟท.ให้ SRTA ทบทวนการศึกษาพัฒนาที่ดินโรงแรมรถไฟหัวหินใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์หลังเกิดโควิด-19 ซึ่งสัญญาเช่าที่ดินโรงแรมเซ็นทรัลหัวหินเดิมสิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 โดยบอร์ด รฟท.เห็นชอบให้มีการต่อสัญญาเช่าชั่วคราว คราวละ 1 ปี ล่าสุดสัญญาจะครบกำหนดวันที่ 15 พ.ค. 2566 โดยตามเงื่อนไขค่าเช่าปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 9.4 ล้านบาท/ปี  

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีช รีสอร์ท จำกัด ได้เจรจาต่อสัญญาเช่าที่ดินโรงแรมรถไฟหัวหินอีก 15 ปี หลังสัญญาเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 15 พ.ค. 2565 โดย รฟท.มีข้อเสนอให้เอกชนลงทุนก่อสร้างโรงแรมใหม่และรีโนเวตตึกเก่าเพิ่มเติม ขณะที่ค่าเช่าสัญญาเดิม ปีสุดท้าย รฟท.ได้รับที่ 7.7 ล้านบาท   

ขณะที่ผลการศึกษาล่าสุด ที่ปรึกษาประเมินผลตอบแทนของที่ดินหัวหิน รฟท.จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 297 ล้านบาท หรือเดือนละ 24 ล้านบาท คิดเป็นอัตราค่าเช่ารวมตลอด 30 ปีไม่ต่ำกว่า 5,727 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าเซ็นทรัลฯ จะต้องลงทุน 3,200 ล้านบาทในการก่อสร้างโรงแรมระดับ 3-4 ดาวเพิ่มอย่างน้อย 100 ห้อง  


@เร่งโอน 6,107 สัญญาเช่า ให้ SRTA บริหารใน เม.ย.-พ.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าในการส่งมอบทรัพย์สินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) รับไปดำเนินการนั้น นายอนันต์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานที่มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่ง รฟท.และ SRTA ได้รายงานแผนดำเนินการ โดยจะเร่งรัด กลุ่มที่ 1 สัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว จำนวน 1,813 สัญญา มูลค่าตามสัญญาเช่าประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อจ้าง SRTA บริหาร ซึ่ง รฟท.ได้ทำ TOR กำหนดเงื่อนไขการบริหาร ให้ SRTA ทำข้อเสนอเข้ามาภายในเดือน มี.ค. 2566 เพื่ออนุมัติจ้างบริหาร

กลุ่มที่ 2 สัญญาที่ยังไม่ครบกำหนด จำนวน 4,294 สัญญา ซึ่ง รฟท.จะให้ SRTA เช่าจาก รฟท.ไปบริหาร มีมูลค่าตามสัญญาเช่าประมาณ 999 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ชุด ชุดแรก 1,294 สัญญา ได้ขออนุมัติบอร์ด รฟท.แล้วในการให้ SRTA เช่า ซึ่ง SRTA อยู่ระหว่างทำข้อเสนอยื่นใน มี.ค.-เม.ย. 2566 เพื่อรับดำเนินการ ส่วนชุดที่ 2 จำนวน 1,500 สัญญา และชุดที่ 3 จำนวน 1,500 สัญญา คาดว่าจะเสนอบอร์ด รฟท.อนุมัติในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2566

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นที่ดินเปล่าหรือที่ดินแปลงใหญ่ที่ยังไม่มีสัญญาภาระผูกพัน รฟท.จะให้ SRTA เช่าบริหาร จำนวน 28 แปลง โดยเป็นไปตามมติ ครม. 11 แปลง คือ 1. พื้นที่ธนบุรี 2. สถานีแม่น้ำ 3. สถานีกลางบางซื่อ (แปลง A) 4. สำนักงานใหญ่การรถไฟฯ และพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณตึกแดง บางซื่อ (แปลง E) 5. สนามกอลฟ์รถไฟหัวหินและเกสต์เฮาส์ (โรงแรมกอล์ฟอินน์) 6. นิคมรถไฟ กม.11 (แปลง G) 7. สถานีกลางบางซื่อ โซน C 8. สถานีกลางบางซื่อ โซน B 9. ย่านมักกะสัน การรถไฟแปลง B, C, D และ E 10. พื้นที่ขอนแก่น 11. โรงแรมรถไฟหัวหิน และที่ รฟท.เสนอให้ SRTA พิจารณาพัฒนาอีก 17 แปลง เช่น กาญจนบุรี หาดใหญ่ โคราช หนองคาย เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดโอนทรัพย์สินให้ SRTA (บริษัทลูก) คือที่ดินที่มีสัญญาเช่าเดิม ได้แก่ สัญญาเช่าที่ยังไม่หมดอายุ โดยให้มอบสิทธิให้ SRTA บริหาร, สัญญาเช่าที่หมดอายุให้ SRTA เช่าบริหาร รวมทั้งสิ้น 6,107 สัญญา ซี่งมีแผนดำเนินการแล้ว ยังเหลือที่ดินเช่าตามสถานีรถไฟทั่วประเทศกว่า 5,000 สัญญา ซึ่งฝ่ายปฏิบัติการเดินรถเป็นคู่สัญญาจะดำเนินการหลังจากนี้


@เสนอบอร์ดแก้ระเบียบให้ SRTA เช่าที่ดินโดยไม่ต้องประมูลเพื่อความคล่องตัว

นอกจากนี้ รฟท.จะต้องเสนอบอร์ด รฟท.ขอแก้ไขระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดประโยชน์ในทรัพย์สินของการรถไฟฯ พ.ศ. 2544 โดยจะเพิ่มเงื่อนไขให้ SRTA ซึ่งเป็นบริษัทลูก สามารถเช่าที่ดินของ รฟท.ไปดำเนินการจัดหาประโยชน์ได้โดยไม่ต้องประมูล มูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่ต้องวางเงินมัดจำในการทำสัญญา หากมูลค่าเกิน 500 ล้านบาทให้ศึกษาแผนและนำเสนอบอร์ดเหมือนเดิม เพราะระเบียบเก่าไม่เคยมีบริษัทลูก โดยจะเสนอบอร์ด รฟท.พิจารณาในเดือนหน้า

ปัจจุบัน รฟท.มีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการถ่ายโอนสัญญาจำนวน 6,107 สัญญา ให้ SRTA บริหารยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้ รฟท. เนื่องจากเป็นการบริหารสัญญาเดิมที่มีผู้เช่าเดิม แต่คาดว่าหากมีการพัฒนากลุ่มที่ 3 ที่ดินเปล่าแปลงใหญ่ จะเป็นส่วนเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สินของ รฟท.อย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น