"ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป" เผยบริษัทลูก “กรีนเพาเวอร์ 4” หรือ GP4 ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า อบต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี คาดลงนามภายในไตรมาส 2 ผู้บริหารเผยเตรียมยื่น กฟผ.ขอผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ กำลังการผลิต 6.6 เมกะวัตต์ ตามแผนทยอยตุน PPA มากกว่า 50 MW ภายในปีนี้ หนุนผลการดำเนินงานเติบโตอย่างมั่นคง
นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ CWT เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 บริษัท กรีนเพาเวอร์ 4 จำกัด หรือ GP4 ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ล่าสุด คณะกรรมการคัดเลือกโครงการดังกล่าวได้ตรวจสอบเอกสารและพิจารณาคุณสมบัติของ GP4 ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านคุณสมบัติทั่วไป 2.ด้านคุณสมบัติการลงทุน 3.ข้อเสนอด้านเทคนิค และ 4.ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน ผลปรากฏว่า GP4 เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้อง ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเป็นที่เรียบร้อย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการด้านสัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2566 นี้
ทั้งนี้ โครงการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีระยะเวลาดำเนินการ 22 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา และเมื่อลงนามในสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ เตรียมยื่นเรื่องที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย โดยมีกำลังการผลิต 6.6 เมกะวัตต์ และปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ต่อไป
"บริษัทฯ มีความพร้อมอย่างยิ่งสำหรับงานโครงการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯ มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความพร้อมในทุกๆ ด้าน นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ทยอยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือให้มากกว่า 50 MW ภายในปี 2566 ซึ่งหากรวมโครงการดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 32.1 เมกะวัตต์”
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อน เนื่องจากธุรกิจเบาะหนังบริษัทฯ มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง และมีแผนการส่งมอบงานอย่างชัดเจน ขณะที่มีรายได้จากธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนธุรกิจยานยนต์มีแผนการส่งมอบงานตามกำหนดเช่นกัน ทำให้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าผลงานในปีนี้จะสามารถสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากปีก่อน
อนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ ในรูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว และมีโรงคัดแยกขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF 1 แห่ง กำลังการผลิต 400 ตัน/วัน อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 3/2566 ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี พร้อมกันนี้ มีอีก 1 โครงการอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย ของเทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ กำลังการผลิต 6.0 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม อีกทั้งมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีกหลายแห่ง