xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟท.ตีกลับ PPP ขนส่งสินค้า 'หนองคาย-แหลมฉบัง' ติงระบบจ่ายไฟเหนือหัวลงทุน 2.58 หมื่นล้าน หวั่นไม่คุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.ตีกลับผลศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP )เดินรถขนส่งสินค้า "หนองคาย-แหลมฉบัง"ติงระบบจ่ายไฟเหนือหัวลงทุนสูงกว่า 2.58 หมื่นล้านบาท สั่งทบทวนเทคโนโลยีทางเลือกอื่น

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธานเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ได้มีการนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือ PPP ซึ่งบอร์ด รฟท.ยังไม่เห็นชอบผลการศึกษาฯ ดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่ามีวงเงินลงทุนสูงโดยให้บริษัทที่ปรึกษาฯ กลับไปทบทวนและพิจารณาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงนำมาเปรียบเทียบและพิจารณาในเรื่องความคุ้มค่าด้วย โดยให้นำเสนอบอร์ด รฟท.ในการประชุมครั้งต่อไป

ทั้งนี้ การให้เอกชนร่วมพัฒนาระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า (Rail Electrification) และบริการจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบังระยะทางรวมประมาณ 683 กิโลเมตร (กม.) โดยที่ปรึกษาได้เสนอเทคโนโลยีรถจักรไฟฟ้าและ Electric Multiple Unit (EMU) โดยใช้ระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary System) ซึ่ง รฟท.ต้องลงทุนประมาณ 20,890 ล้านบาท และจัดหาหัวจักรรถสินค้าอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท

"รฟท.ต้องนำข้อมูลมาพิจารณาความคุ้มค่าและเหมาะสมอีกครั้งว่าเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบังควรจะเป็นอย่างไร พัฒนาติดระบบไฟฟ้าใช้กับขบวนขนส่งผู้โดยสารและแนวทางในการขนส่งสินค้าปริมาณสินค้ามีแค่ไหน และ SLOT ที่เหลือจะนำมาเพิ่มรายได้อย่างไร เนื่องจากหนองคายมีปริมาณสินค้ามากเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน ตอนนี้บอร์ด รฟท.เห็นว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงประกอบกับวงเงินลงทุนค่อนข้างสูงจึงให้ไปดูแนวทางอื่น เช่น เป็นรถดีเซลคุ้มค่ากว่าหรือไม่หรือเป็นรถไฟพลังงานทางเลือกอื่น เช่น ระบบพลังงานทางเลือกจาก hydrogen fuel cell หรือระบบรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Electric Vehicle หรือ EV) ที่อาจจะมีการลงทุนต่ำกว่า"


รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลพบว่าเมื่อปี 2563 รฟท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง) ระยะทางรวมประมาณ 683 กิโลเมตร มีมูลค่าลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยผลการศึกษาได้เสนอแนะว่าการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้ามีความเหมาะสม โดยภาครัฐลงทุนระบบ OCS (Overhead Catenary System) ในขณะที่ภาคเอกชนลงทุนรถจักรไฟฟ้ารถบรรทุกสินค้า (แคร่) และอู่จอดและซ่อมบำรุง รวมทั้งการพัฒนาระบบรางเพิ่มเติมระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 30 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น