xs
xsm
sm
md
lg

แก้พลังงานแพง! โจทย์ใหญ่รัฐบาลชุดใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พลังงาน” เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ไฟฟ้า เพราะเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจต่างๆ เมื่อราคาของค่าพลังงานเหล่านี้แพงย่อมกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนที่สูงตามไปด้วย.. ซึ่งผลจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เพิ่งครบ 1 ปีเมื่อ 24 ก.พ. 66 ที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างรุนแรงที่มีต่อประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันดิบกว่า 90% รวมไปถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่กระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างชัดเจน

เมื่อย้อนเส้นทางวิกฤตพลังงานแพงเริ่มจากน้ำมัน รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนด้วยการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแลราคาขายปลีก "ดีเซล" ที่มองว่าเป็นน้ำมันเศรษฐกิจไม่ให้เกินระดับ 30 บาทต่อลิตร หลังถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก การอุดหนุนราคาดีเซลสูงถึง 14 บาทต่อลิตรในวันที่ 11 มี.ค. 65 และกองทุนน้ำมันฯ เริ่มติดลบมากกว่า 3 หมื่นล้านบาททำให้รัฐต้องยกเลิกเพดานการอุดหนุน 35 บาทต่อลิตรโดยมีผล 1 พ.ค. 65 ด้วยการปรับดีเซลสู่ระดับ 32 บาทต่อลิตรจากนั้นได้ปรับขึ้นเป็น 33 บาทต่อลิตรเมื่อ 31 พ.ค. 65 และขยับอีก 1 บาทต่อลิตรแตะ 34 บาทต่อลิตรในวันที่ 7 มิ.ย. 65

การตรึงราคาดีเซล ผสมโรงกับการอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบต่อเนื่องและแตะระดับสูงสุดราว 1.3 แสนล้านบาทในเดือน พ.ย. 65 เกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักทำให้คณะรัฐมนตรี 25 ต.ค. 65 อนุมัติให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กู้เงิน 1.5 แสนล้านบาทมารักษาเสถียรภาพราคา โดยต่อมา พ.ย. 65 สภาฯ ได้ไฟเขียว พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” วงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท มีระยะเวลาการกู้ 1 ปี เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เมื่อขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยทำให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ดำเนินการกู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาทลงนามในสัญญาแล้วกับธนาคารกรุงไทยและธนาคาออมสินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องช่วงปลาย ธ.ค. 65 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมกู้รอบ 2

ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงการคลังยังมีการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตควบคู่กันไปเพื่อดูแลดีเซล โดยมีการลดลงครั้งแรก 3 บาทต่อลิตรมีผล 18 ก.พ.-พ.ค. 65 จากนั้นครั้งที่ 2 ลดลงจาก 5.99 บาทต่อลิตรเหลือ 1.34 บาทต่อลิตร 21 พ.ค.-20 ก.ค. 65 และขยายมาตรการดังกล่าวต่อเนื่องอีก 3 ครั้งครั้งละ 2 เดือน และต่อมาเป็นครั้งที่ 6 ที่มีการขยายเวลาเป็น 4 เดือน (21 ม.ค.-20 พ.ค. 66) ก่อนที่จะยุบสภาฯ ขยายต่ออีก 2 เดือนเป็นครั้งที่ 7 (21 พ.ค.-20 ก.ค. 66) ทำให้ 7 ครั้งรวมสูญรายได้ราว 1.58 แสนล้านบาท

ภาระกองทุนน้ำมันฯ ยังเหลือกว่า 9 หมื่นล้าน
ประเดิมปี 2566 นับเป็นข่าวดีหลังจากที่ราคาน้ำมันโลกอ่อนตัว ประกอบกับกองทุนฯ เริ่มมีเงินกู้เข้ามาเสริมสภาพคล่อง และคลังขยายเวลาลดภาษีดีเซลฯ ให้ราคาดีเซลเริ่มปรับลดลงในเดือน ก.พ. 66 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก 15 ก.พ. 66 ลด 50 สตางค์ต่อลิตร และวันที่ 22 ก.พ. ลงอีก 50 สตางค์ต่อลิตร และล่าสุดวันที่ 24 มี.ค. 66 ลดลงอีก 50 สตางค์ต่อลิตรแตะระดับ 33.50 บาทต่อลิตร ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ เริ่มมีฐานะติดลบลดลงต่ำกว่าระดับ 1 แสนล้านบาท โดย ณ วันที่ 19 มี.ค. 66 มีฐานะสุทธิติดลบที่ 97,205 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 50,609 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 46,596 ล้านบาท

ค่าไฟยังต้องทยอยจ่ายคืนหนี้ กฟผ.

มาดูค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) กันบ้าง ประเดิม ม.ค.-เม.ย. 2565 มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย โดยเพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วยหลังตรึงค่าไฟมานานกว่า 2 ปี จากนั้นงวด พ.ค.-ส.ค. 65 Ft ขยับเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเป็น 4 บาทต่อหน่วย ก่อนขยับต่อในงวด ก.ย.-ธ.ค. 65 มาเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟเฉลี่ยขยับเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้บริหารจัดการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนไว้ราว 83,013 ล้านบาท

ประเดิมปี 2566 ค่าไฟงวดแรก (ม.ค.-เม.ย.) กกพ.ได้พิจารณาตามมติ ครม.ที่กำหนดให้นำก๊าซอ่าวไทยมาบริหารให้กับประชาชนก่อนจึงทำให้สรุปค่าไฟออกเป็น 2 อัตรา โดยประเภทบ้านที่อยู่อาศัยคงเดิมที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ประเภทอื่นๆ (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ฯลฯ) อยู่ที่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วยเฉลี่ย 5.69 บาทต่อหน่วย แต่ต่อมาภาคเอกชนได้ร้องเรียนส่งผลให้นายกฯ มอบหมายให้มาทบทวน และที่สุด กกพ.ได้ปรับสมมติฐานใหม่และเคาะค่าไฟประเภทอื่นๆ เหลือ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย

ล่าสุดงวด พ.ค.-ส.ค. 66 ที่ กกพ.เปิดประชาพิจารณ์ให้เลือก 3 แนวทางซึ่งได้กลับมาใช้ค่าไฟอัตราเดียวเช่นปกติ โดยระบุว่าเป็นไปตามการรับฟังความเห็นที่เลือกแนวทางที่ 3 คือ (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด) ค่า Ft เรียกเก็บ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงคาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 22,781 ล้านบาท หรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (เม.ย. 2568) โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย


การบริหารราคาพลังงานที่ผ่านมานั้นแม้ว่าปัจจัยหลักจะมาจากวิกฤตราคาแพงที่เป็นปัจจัยจากตลาดโลกที่ไทยควบคุมไม่ได้แต่ในหลายๆ อย่างก็เกิดจากการบริหารของนักการเมืองและราชการประจำเองหรือไม่ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะมุมมองจากภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่างก็เคยชี้จุดให้แก้ไขในช่วงที่ผ่านมาทั้งความผิดพลาดของการบริหารจัดการก๊าซฯ อ่าวไทยช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานใหม่ที่ทำให้ปริมาณก๊าซฯ ลดลงจนต้องนำไปสู่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงหูฉี่ ค่าความพร้อมจ่าย (AP) จากสำรองที่สูง ฯลฯ และมีการตั้งคำถามที่ชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนมีกำไรมากมายแต่ กฟผ.แบกภาระหนี้สูงแถมประชาชนยังใช้ไฟแพงประโยชน์นี้ได้ตกอยู่กับใครกันแน่?

ปัญหาราคาพลังงานทรงตัวระดับสูงยังคงต้องดำเนินต่อไปภายใต้ภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังคงติดลบกว่า 9.7 หมื่นล้านบาทสะท้อนให้เห็นว่าราคาน้ำมันที่ไม่ใช่เพียงแค่ดีเซล แต่ผู้ใช้กลุ่มเบนซินที่จะต้องถูกควักมาช่วยจ่ายคืนหนี้ที่ไม่ได้ก่อด้วย ซึ่งยังไม่ได้รวมไปถึงการอุดหนุน LPG ที่ขณะนี้อยู่ราว 5.23 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ... เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ล้วงเงินในกระเป๋าคนใช้น้ำมันมาดูแลและที่สุดก็ต้องใช้คืนพร้อมกับดอกเบี้ยเงินกู้...

ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลกที่แม้เริ่มอ่อนตัวลง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ไม่แน่นอนรออยู่ โดยเฉพาะการเกิดการสู้รบที่จะขยายวงหรือไม่ ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอาจทำให้ราคาพลังงานกลับมาสู่ระดับต่ำลงอีก ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น ....ก็ต้องลุ้นให้เป็นขาลงเยอะๆ ภาระจะได้หมดเร็วขึ้นเช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.ได้แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไว้ราว 1.1 แสนล้านบาทที่จะต้องมีการทยอยคืนหนี้ โดยตัวเลขนี้จะลดลงมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามตัวแปรอื่นๆ ในการคำนวณค่าไฟในงวดต่อๆ ไปด้วย ...ทั้งปริมาณก๊าซฯ อ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณจะทยอยกลับมาเพิ่มมากขึ้นระดับไหน ราคาเชื้อเพลิงอื่นๆ ค่าเงินบาท ฯลฯ แต่ภาระหนี้ที่มีอยู่อัตราค่าไฟฟ้าในอนาคตยังคงเฉลี่ยในระดับสูงอยู่ดี โอกาสที่จะกลับไปสู่ระดับ 3 บาทกว่าๆ ต่อหน่วยโอกาสเห็นคงจะยากแล้ว

พรรคการเมืองเริ่มชูนโยบายลดราคา

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าเวทีดีเบตหลายแห่งที่จัดขึ้นให้กับพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมแสดงความเห็นจะเริ่มมีการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาพลังงานมากขึ้น โดยภาพรวมทุกพรรคต่างมองว่าโครงสร้างราคาพลังงานน้ำมันกับก๊าซเกิดจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เช่นกรณีราคาหน้าโรงกลั่นที่อิงสิงคโปร์ย้อนหลัง 2 วันแล้วบวกค่าใช้จ่ายสมมติว่านำเข้า ค่าการตลาดที่ควรควบคุมให้มีกำไรแต่พอควร ฯลฯ ขณะที่ค่าไฟฟ้าก็มองว่าจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเช่นเดียวกัน .....และที่หนักสุดบางพรรคหาเสียงแบบสุดโต่งว่าจะลดราคาน้ำมันเท่านั้นเท่านี้กันเลยทีเดียวแต่ไม่ระบุรายละเอียดของที่มาว่าจะลดได้อย่างไร

เหนือสิ่งอื่นใด ยังไม่ค่อยมีพรรคการเมืองไหนกล้าที่จะนำเสนอถึงแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานแบบจริงๆ จังๆ มากนัก โดยเฉพาะการห้ามรัฐมนตรี หรือข้าราชการระดับสูงไปนั่งในบอร์ดบริษัทพลังงานที่ตัวเองกำกับดูแลหลังเกษียณ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.พลังงานที่จะดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาติดตามแก้ไขปัญหาพลังงานเชิงโครงสร้าง ฯลฯ ขณะเดียวกัน พรรคต่างๆ ที่เคยหาเสียงเอาไว้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพอมาเป็นรัฐบาลทำไม่ได้ก็ไม่ต้องรับผิดชอบคำพูดใดๆ ทั้งสิ้น!!!

ปัญหาพลังงานที่รอการแก้ไข !!! ซึ่งเป็นความหวังของประชาชน และรวมถึงภาคเอกชนที่เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย กดดันการแข่งขันการส่งออกที่รุนแรงซึ่งภาคเอกชนมองว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงอยู่แล้วเมื่อรวมกับค่าพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่สูงอีกเมื่อเทียบเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าอย่างเวียดนาม แต้มต่อไทยมีน้อยมากทำให้ขีดแข่งขันของประเทศลดลง....

ไหนโลกกำลังจะมุ่งสู่เทรนด์พลังงานสะอาด ซึ่งไทยเองมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน การบริหารจะวางอย่างไรให้สมดุลทั้งความมั่นคง ราคาเป็นธรรมแข่งขันได้ !!! ภายใต้ภาระหนี้กองทุนน้ำมันฯ และ กฟผ.ที่ผู้ใช้น้ำมันและไฟฟ้าต้องทยอยจ่ายคืน ..... เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่รอให้รัฐบาลใหม่มาปรับปรุงแก้ไข ..

ก็ได้แต่หวังว่าโจทย์นี้จะมีคำตอบที่ต่างไปจากอดีต ไม่ได้คิดมักง่ายบริหารแต่ปัจจัยภายนอกว่าด้วยราคาตลาดโลกแล้วก็วนลูปใช้กองทุนน้ำมันฯ ใช้ กฟผ.แบกหนี้ซึ่งก็คือการยืมเงินประชาชนในอนาคตมาจ่าย แต่ไม่มีการแก้ไขเชิงโครงสร้างแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น