xs
xsm
sm
md
lg

โควิดฉุดผู้โดยสาร! UTA ปรับแผนพัฒนา "อู่ตะเภา" ยืด 6 เฟส ขอลดไซส์เริ่มต้นรองรับที่ 8 ล้านคน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



UTA เตรียมเจรจา อีอีซี สรุปปรับเฟสพัฒนา "อู่ตะเภา" จาก 4 ระยะเป็น 6 ระยะ ขอลดไซส์ช่วงแรกรองรับที่ 8 ล้านคน/ปีจากเดิม 15 ล้านคน พิษโควิดทำผู้โดยสารวูบ เผย 4 เงื่อนไขออก NTP เริ่มงานรัฐต้องประมูลสร้างรันเวย์ 2 และโครงการต้องผ่าน EHIA ก่อน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ในฐานะผู้แทนบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ สกพอ. และรอเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ เพื่อสรุปการปรับแผนงานในการพัฒนาใหม่ หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อประมาณการผู้โดยสาร และการส่งมอบพื้นที่ของฝ่ายรัฐ ที่เลื่อนจากเดือน ม.ค. 2566 ออกไป   

เบื้องต้นจะปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จากเดิม 4 ระยะ (ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี ระยะที่ 2 รองรับที่ 30 ล้านคน/ปี ระยะที่ 3 รองรับที่ 45 ล้านคน/ปี ระยะที่ 4 รองรับที่ 60 ล้านคน/ปี) เป็น 6 ระยะ โดยช่วงแรกเริ่มต้นการรองรับที่ 8 ล้านคน/ปี และเมื่อจำนวนผู้โดยสารอยู่ในระดับ 75-80% ของขีดการรองรับ จะมีการพัฒนาในระยะถัดไปทันที เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารหลังโควิด โดยหากผู้โดยสารขึ้นมาเร็วก็ต้องพัฒนาระยะต่อไปเร็วไปด้วย ซึ่งเป้าหมายยังเป็นไปตามเงื่อนไขเดิมในการรองรับผู้โดยสารที่ 60 ล้านคน/ปี 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA
นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีการออกแบบเบื้องต้นไว้แล้วหากรัฐส่งมอบพื้นที่ประมาณ 6 พันไร่ และมีการออก NTP ให้เริ่มงานบริษัทพร้อมดำเนินการ โดยเฟสแรกจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ทั้งนี้ ในการส่งมอบพื้นที่ หรือ NTP นั้นมีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการให้เรียบร้อย ได้แก่ 1. เปิดประมูลก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ที่มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง

2. โครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA ต้องได้รับอนุมัติ 3. เจรจาข้อตกลงเรื่องตารางการเดินรถไฟไฮสปีด เพื่อให้การบริการผู้โดยสารได้รับความสะดวก ระหว่าง UTA กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

4. เจรจาข้อตกลงกับกองทัพเรือในการใช้งานสนามบินอู่ตะเภา และการใช้งานรันเวย์ ซึ่งขณะนี้การเจรจาได้ข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า การลงนามสัญญาโครงการนี้บริษัทฯ ลงทุนจำนวน 4,500 ล้านบาท โดยขณะนี้ลงทุนแล้ว 45% หรือประมาณ 2,200 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งการออกแบบ ที่ปรึกษา และอื่นๆ เป็นต้น

ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง เปรียบเทียบคือ ย้อนไปถึงเมื่อ 25 ปีก่อน และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะผู้โดยสารจึงจะกลับมาเท่าปี 2562 ประกอบกับบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินเกิดขาดแคลนเพราะมีการเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น และการสร้างบุคลากรใหม่ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้มีการปรับแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในเฟสแรก เริ่มที่ 8 ล้านคน/ปี ขณะที่ในเงื่อนไข RFP กำหนดที่ 12 ล้านคน/ปี แต่บริษัทเสนอไปที่ 15 ล้านคน/ปี ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีโควิด

ทั้งนี้ ตามแผนเดิมเฟสแรกจะรองรับผู้โดยสารที่ 15 ล้านคน /ปี มองว่าสถานการณ์ขณะนี้หากลงทุนไปมาก แต่ผู้โดยสารไม่มาก จะเป็นการสูญเปล่า จึงขอปรับให้เหมาะสม ประเมินว่าเริ่มต้นที่ 8 ล้านคน/ปี เหมาะสม ส่วนเฟส 2 ที่จะเริ่มเมื่อผู้โดยสารอยู่ในระดับ 75-80% ของขีดรองรับเฟส 1 นั้น คาดว่าจะเริ่มเห็นได้ภายใน 5 ปี ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะเป็น 12 ล้านคนหรือ 14 ล้านคน/ปี และคาดว่าช่วง 10 ปีการพัฒนาจะกลับเข้าสู่แผนเดิมทั้งหมด

“โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ดังนั้น รัฐและเอกชนต้องช่วยกันพัฒนาโครงการ เมื่อเกิดสถานการณ์ หากมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ รัฐและเอกชนต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน การขยายเฟสลงทุนไม่ใช่ดีเลย์ แต่เป็นการลงทุนเท่าที่จำเป็น”


กำลังโหลดความคิดเห็น