“จุรินทร์” ประกาศนับหนึ่งเจรจา FTA ไทย-อียู ร่วมกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ตั้งเป้าเจรจาจบภายใน 2 ปี หรือปี 68 ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งแรก ก.ค.นี้ เผยไทยได้ประโยชน์เพียบ หลัง FTA บังคับใช้ภาษีส่งออกไปอียูเป็น 0% เปิดโอกาสขยายตลาดบริการ ลดต้นทุนนำเข้า ดึงดูดการลงทุน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือเทียบเท่าในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่ายระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ที่ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการในการเริ่มต้นการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-อียู หลังจากที่ 2 ฝ่ายใช้ความพยายามมาเกือบ 10 ปี โดยตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปี คือปี 2025 หรือปี 2568
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการเริ่มต้นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเป็นครั้งแรกในเดือนก.ค. 2566 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพ มีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าทีม และการเจรจาจะครอบคลุมเรื่องการค้า บริการ และการลงทุน และเรื่องอื่นๆ ซึ่งทีมเจรจาจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่ากังวล และเมื่อได้ข้อตกลงครบทุกหัวข้อแล้ว ตามขั้นตอนก็จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อให้สัตยาบัน โดยฝั่งอียูก็ดำเนินการทางฝั่งอียูเช่นเดียวกัน และจากนั้นจะลงนามบังคับใช้ได้
“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดจากที่ผมได้นำคณะเดินทางไปพบกับท่านวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันในการไปดำเนินการภายในประเทศให้เสร็จสิ้น ซึ่งผมได้นำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบผ่านที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 และ ครม.ให้ความเห็นชอบ วันนี้จึงได้มาพบกับท่านดอมบรอฟสกิสอีกครั้ง และประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการนับหนึ่งการจัดทำ FTA ไทย-อียู” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำ FTA ไทย-อียู โดยเมื่อ FTA มีผลบังคับใช้ ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป 27 ประเทศในที่สุดจะเป็น 0% ทำให้ไทยสามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น ส่วนภาคบริการ จะสร้างโอกาสในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น ค้าส่งค้าปลีก การผลิตอาหาร และการท่องเที่ยว เป็นต้น และการนำเข้าวัตถุดิบภาษีก็จะเป็น 0% เช่นเดียวกัน ทำให้ภาคการผลิตของไทยลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์
นอกจากนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย โดยไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย เพราะจะได้แต้มต่อในการส่งออก การค้า การลงทุนกับอียู 27 ประเทศ ช่วยเพิ่มตัวเลขการลงทุน และจีดีพีให้แก่ประเทศ และทำให้ไทยเพิ่มจำนวน FTA มากขึ้นจากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ เพิ่มเป็น 15 ฉบับกับ 45 ประเทศในทันทีที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่สามในอาเซียนที่อียูทำ FTA ด้วย โดยมีเวียดนามและสิงคโปร์ ที่มี FTA กับอียูแล้ว
ปัจจุบันอียูมีประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทย 7% ที่ไทยค้ากับโลก ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปปี 2565 ประเทศไทยได้ดุลถึง 150,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส ได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ Valdis Dombrovskis ทันทีว่า อียู-ไทยฟื้นการเจรจาข้อตกลงทางการค้า ตนยินดีอย่างยิ่งต่อการฟื้นการเจรจากับไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน ความตกลง FTA ไทย-อียู ที่ทันสมัย มีพลวัต จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย จะเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทางการค้าของอียูกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก