ผอ.กทท.เผยแผนยกระดับบริการ มุ่งใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เร่งพัฒนาเชื่อมทางด่วน S1 เข้าท่าเรือกรุงเทพ แก้รถติด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก ลดต้นทุน โลจิสติกส์
วันที่ 11 มีนาคม 2566 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษในหัวข้อ "นโยบายพัฒนาท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังที่มีผลต่อประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก" ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ของสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก ภายใต้ชื่องาน Bangkok Truck Show เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางบกให้ก้าวหน้าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศว่า
การขนส่งสินค้าทางบกเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สินค้ามากกว่า 90% เป็นการขนส่งโดยรถบรรทุก ซึ่งการพัฒนาโลจิสติกส์ของไทย เกิดจากความร่วมมือจากทุกสมาคมสมาพันธ์ที่ร่วมกันผลักดันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
ในส่วนของกทท. ปัจจุบันได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation)
ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือบก โดยจุดแรกจะมุ่งไปที่ภาคอีสานในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา เนื่องจากมีการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก และรองรับสนับสนุนโครงการ ทลฉ.ระยะที่ 3
สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่งทางบกโดยรถบรรทุก นั้น ที่ท่าเรือกรุงเทพ
มีโครงการที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดปัญหาการจราจรติดขัด ได้แก่ โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ซึ่งเป็นทางด่วนเส้นทางต่อขยาย เพื่อแยกรถบรรทุก ออกจากเส้นทางสัญจร
ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง มี โครงการหลักได้แก่ โครงการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยบริหารเวลารถบรรทุกเข้าออก ทลฉ. (Truck Queue) เป็นระบบจองเวลาล่วงหน้าในการนำรถบรรทุกเข้ามารับ-ส่งสินค้าภายในเขตท่าเรือ ซึ่งจะมีโครงการพัฒนาลานจอดรถบรรทุก (Truck Parking) เป็นโครงการสนับสนุน โดยหากได้จองเวลาในระบบ Truck Queue แล้ว แต่นำรถเข้ามาก่อนเวลาก็จะต้องเข้าไปจอดรอในลานจอดรถบรรทุก Truck Parking ที่จัดเตรียมไว้ในพื้นที่ 90 ไร่ ภายในพื้นที่จะมีศูนย์อาหาร ร้านสะดวกซื้อ จุดบริการรถไฟฟ้า EV ห้องอาบน้ำ ฯลฯ เพื่อเป็นจุดพักผ่อนสำหรับคนขับรถบรรทุกและผู้ใช้บริการ
โครงการทั้งหมดนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทั้งภายในและภายนอกท่าเรืออย่างยั่งยืน ช่วยลดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามนโยบายท่าเรือสีเขียว (Green Port)
"การทำงานของ กทท. ต้องประสานทุกภาคส่วนของการขนส่ง เพื่อให้เกิดโครงข่ายการเชื่อมโยงทุกรูปแบบ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึงการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว