xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล สวนหลวง ชูแนวคิดระบบขนส่ง “ฟีดเดอร์” เข้าถึงชุมชน แก้รถติด-กระตุ้นเศรษฐกิจเขตรอบนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุภกร"ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ก้าวไกล-สวนหลวง ยกปัญหาร่วมชุมชนเกิดใหม่รอบนอก กทม. เติบโตเร็วแต่ระบบขนส่งสาธารณะเข้าไม่ถึง บีบคนต้องถอยรถเพิ่มจนรถติดมากขึ้นทุกวัน ชี้ ถึงเวลาต้องทำระบบขนส่ง “ฟีดเดอร์” ครอบคลุมทุกชุมชน ลดได้ทั้งการจราจรและฟื้นเศรษฐกิจห้องแถว
วันนี้(8 มี.ค.)นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล เขตสวนหลวง-ประเวศ แสดงวิสัยทัศน์ต่อการแก้ปัญหาในเขตสวนหลวงและประเวศ ในด้านที่เกี่ยวกับปัญหาการจราจรและเศรษฐกิจชุมชน โดยยกข้อเสนอเกี่ยวกับการทำระบบขนส่งสาธารณะเส้นเลือดฝอย (ฟีดเดอร์) เป็นแนวทางแก้ปัญหา

นายสุภกร กล่าวว่า เขตสวนหลวง-ประเวศ เป็นพื้นที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในรอบหลายปีที่ผ่านมาโครงการใหม่ ๆ ทั้งคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ทว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นเส้นเลือดฝอย หรือระบบรถเมล์ กลับตามการเติบโตไม่ทัน แม้ที่ผ่านมาจะมีการสร้างระบบรถไฟฟ้าผ่านพื้นที่เขตสวนหลวง-ประเวศ ทั้งสายสีเหลืองและสายสีส้ม แต่ก็ยังคงขาดโซ่ข้อกลางอย่างรถเมล์ ที่จะดึงคนจากชุมชนออกมาสู่ระบบใหญ่ข้างนอก โดยเฉพาะสำหรับชุมชนบ้านจัดสรรเกิดใหม่ ๆ ในเขตสวนหลวง-ประเวศ ที่อยู่ตามซอกซอยลึกเข้าไปจากถนนใหญ่ ทั้งรามคำแหง ศรีนครินทร์ อ่อนนุช พัฒนาการ

ทุกวันนี้ ระบบขนส่งเส้นเลือดฝอยที่มีอยู่ โดยมากก็จะเป็นรถสองแถวเอกชน ไม่ก็วินมอเตอร์ไซค์ แต่ก็ยังมีชุมชนอีกจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงระบบขนส่งแม้แต่อย่างเดียว ทำให้การออกรถยนต์ส่วนตัวเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ จึงไม่แปลกที่การเกิดขึ้นของชุมชนใหม่ ๆ จะส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้นทุกวัน เพราะทุกคนถูกบีบโดยจำยอมให้ต้องหันมาใช้รถส่วนตัวกันหมด

“แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดของประชาชนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง ไม่ใช่ความผิดของผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ต้องพัฒนาที่ดินตามโจทย์ที่มีอยู่ หรือแม้แต่ ขสมก. ที่ทุกวันนี้เป็นได้แค่หน่วยงานลูกเมียน้อย คนใช้บริการเยอะที่สุด แต่ได้รับงบน้อยสุดในบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวกับการขนส่งใน กทม. ทั้งหลายเลย นี่คือเรื่องที่ต้องใช้การทำงานระดับนโยบายกำหนดลงมา ยิงงบประมาณลงมาให้มันเกิดขึัน”นายสุภกร กล่าว

นายสุภกร ยังกล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหานี้ จำเป็นต้องอาศัยการอัพเดทสายรถเมล์ ลงไปในถนนที่เป็นซอยหลัก ที่มีชุมชนบ้านและคอนโดที่พัฒนามาได้ระยะหนึ่งแล้ว และที่กำลังจะมีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้น เพื่อเป็นฟีดเดอร์พาทุกคนออกไปหาเส้นเลือดใหญ่อย่างสายรถไฟฟ้าที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะสามารถลดปัญหาการจราจร จากความจำเป็นในการมีรถยนต์ส่วนตัวที่น้อยลงได้แล้ว ยังจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชนได้ด้วย

ดังจะเห็นได้ว่าในระยะหลังนี้ อย่างเช่นบนถนนพัฒนาการ ร้านรวงตึกแถวต่าง ๆ เริ่มทยอยปิดตัว ถูกปล่อยทิ้งร้าง บนถนนพระราม 9 ตัดใหม่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ตามคอมมูนิตี้มอลล์เป็นหย่อม ๆ ไป ทั้งสองพื้นที่มีจุดร่วมกัน คือขาดแคลนสายรถเมล์ที่จะพาคนจากในชุมชนออกมาข้างนอก ผิดกับพื้นที่ที่มีรถเมล์วิ่งหลายสาย ที่เราได้เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างคึกคัก

ในกรณีของถนนพระราม 9 ตัดใหม่ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือถนนสร้างเสร็จมากกว่า 30 ปีแล้ว มาจนถึงวันนี้มีรถเมล์วิ่งผ่านทั้งหมดแค่หนึ่งสาย ซึ่งก็เป็นเพียงรถของโรงพยาบาลรามาฯ ที่วิ่งเวียนระหว่างศูนย์แยกโยธี ไปศูนย์บนถนนบางนาเท่านั้น ทั้งที่เป็นถนนเส้นใหญ่ ที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก สามารถเชื่อมต่อถนนศรีนครินทร์ เพื่อเลี้ยวไปบางกะปิ หรือตรงต่อไปบางนา-เทพารักษ์ได้ แต่กลับไม่มีรถเมล์จริง ๆ วิ่งแม้แต่สายเดียว

นายสุภกร ยังกล่าวต่อไป ว่านี่คือความจำเป็นที่เราต้องมีระบบขนส่งเส้นเลือดฝอยอย่างรถเมล์ ที่อย่างน้อยที่สุดควรจะครอบคลุมซอยหลักทั้งหลาย เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้คนในชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไป ไม่ต้องถอยรถส่วนตัวมาใช้เดินทาง ลดปัญหาการจราจรที่มีแต่จะหนาแน่นขึ้นทุกวันตามจำนวนชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ แล้วยังสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนและคนตัวเล็กตัวน้อยได้อย่างมหาศาล

ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เน้นย้ำเสมอในเรื่องนี้ ตั้งแต่สมัยที่เราเป็นพรรคอนาคตใหม่ โดยมีนโยบายคมนาคมทั้งในกรุงเทพมหานครและในระดับชาติ คือการสร้างระบบรถเมล์ไฟฟ้าขึ้นมาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมในการผลิตรถเมล์ไฟฟ้าขึ้นมาในประเทศไทยด้วย และเฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานครเอง เราต้องการการปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะครั้งใหญ่

“ปัญหานี้มองอย่างเผิน ๆ เหมือนว่าจะเป็นปัญหารถมากเกินกว่าถนนจะรองรับได้ ที่ผ่านมาวิธีแก้ปัญหาของประเทศไทยก็เลยเน้นไปที่การตัดถนนเพิ่ม แต่โจทย์จริง ๆ คือเราต้องหาทางลดจำนวนรถลงต่างหาก สร้างแรงจูงใจให้คนใช้รถน้อยลง ซึ่งทำได้ด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะเส้นเลือดฝอยขึ้นมาให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เบื้องต้นที่สุด เราต้องลดงบประมาณส่วนที่เป็นการสร้างถนน มาเป็นการสร้างสายรถเมล์เพิ่ม อัพเดทสายรถเมล์ใหมา ปรับปรุงสภาพรถเมล์ที่ไม่น่าใช้ให้เป็นรถเมล์ที่ทุกคนอยากขึ้น เพิ่มจำนวนรอบให้เหมาะสมกับปริมาณผู้โดยสาร” นายสุภกร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น