กรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้แจงข่าวข้อสงสัย “ซามาเนีย พลาซ่า” ศูนย์ค้าส่งและกระจายสินค้าราคาถูกจากจีน ยันเป็นบริษัทคนไทย สามารถทำธุรกิจได้ปกติ ไม่ต้องขออนุญาต พร้อมย้ำในการพิจารณาให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนในไทยยึดหลักกฎหมาย และประโยชน์ของประเทศ
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีโครงการซามาเนีย พลาซ่า ศูนย์ค้าปลีกค้าส่งและกระจายสินค้าราคาถูกเพื่อจำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนครบวงจร ที่กำลังกลายเป็นข้อถกเถียงในแวดวงธุรกิจ หลังผู้นำเข้าสินค้าจากจีนยื่นขอให้มีการตรวจสอบและติดตามการดำเนินธุรกิจของกลุ่มซามาเนียว่าอาจไม่ชอบตามกฎหมาย และเกรงว่าจะกระทบต่อธุรกิจและเอกชนไทย พร้อมกับมองว่าเป็นปรากฏการณ์ถล่มตลาดที่มีผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุน e-commerce จากประเทศจีนหรือไม่ ว่า จากการตรวจสอบของกรมฯ พบว่าธุรกิจในเครือข่ายซามาเนียมีการจดทะเบียนนิติบุคคล 3 บริษัท คือ ซามาเนีย บางนา 02 จำกัด บริษัท ซามาเนีย บางนา จำกัด และบริษัท ซามาเนีย โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย โดยมีนายเฉือก ฟ้ง อ้อ ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล 3 รายที่เกี่ยวข้อง มีสัญชาติไทย โดยมีมารดาเป็นคนไทย บริษัททั้ง 3 รายดังกล่าวจึงไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
“เมื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย เป็นบริษัทคนไทย ก็สามารถที่จะทำธุรกิจในประเทศไทยได้ทุกอย่าง ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร การทำธุรกิจ ก็สามารถที่จะทำได้ตามปกติ ไม่ต้องมีการขออนุญาต ไม่เหมือนกับกรณีของคนต่างด้าวที่จะเข้ามาทำธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะต้องยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน”
ทั้งนี้ ในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย กรมฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ยืนยันว่าการพิจารณาอนุญาตจะคำนึงถึงผลดีและผลเสียต่อความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจที่อนุญาตจะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ธุรกิจบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้น จะพิจารณาผลดี ผลเสียของธุรกิจที่นักลงทุนจะเข้ามาประกอบกิจการที่มีต่อประเทศโดยรวมเป็นสำคัญ และไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นนักลงทุนจากประเทศใดเป็นการเฉพาะเจาะจง รวมถึงผู้ประกอบการไทยต้องได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ชาติหนึ่งชาติใดเป็นพิเศษ นักลงทุนจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้
สำหรับข้อมูลการอนุญาตในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน จึงเห็นได้ว่ากรมฯ มีการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศโดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนชาติหนึ่งชาติใดเป็นการเฉพาะ แต่จะเน้นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติและผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ