เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซัด สบส.ละเลยกำกับ รพ.เอกชน ปล่อยให้มีการรับจ้างตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ซ้ำส่งผลตรวจให้ฝ่ายบุคคล สถานประกอบการ โวยละเมิดสิทธิไม่ว่าผลเป็นบวกหรือลบ ชวน ปชช.ลงชื่อเรียกร้องยกเลิกตรวจเอดส์ก่อนเข้าทำงาน พร้อมดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดเลือกปฏิบัติต่อบุคคล
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตประมาณ 4.5 แสนคน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พบรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปี เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น จนสามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเอชไอวีได้จำนวนมาก แต่กลับพบว่า ทัศนคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อในสังคมไทยยังมีอยู่มาก ทั้งจากกฎหมายและนโยบายหลายๆ อย่างในองค์กร สถานที่ทำงาน แม้กระทั่งกองทัพ องค์กรตำรวจ ที่จะขอตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน ตลอดจนสถานศึกษาที่ตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน เป็นต้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีผลเลือดบวกหรือลบก็ตาม
ที่น่าเสียใจคือ บทบาทของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เล่นบทหนุนเสริมให้มีการละเมิดสิทธิประชาชน โดยเฉพาะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่มีหน้าที่กำกับสถานพยาบาล แต่กลับปล่อยให้สถานพยาบาล โดยเฉพาะเอกชนมีการรับจ้างตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีและส่งผลตรวจให้กับผู้อื่นหรือฝ่ายบุคคล ทั้งที่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องส่วนบุคคล สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ห้ามเปิดเผยต่อผู้อื่น ปล่อยให้มีบริการรับจ้างตรวจสุขภาพที่เปิดเผยเกินความจำเป็น ทำให้คนไม่สามารถเข้าทำงานเข้าเรียนได้ ขณะที่เทคโนโลยีการรักษาก้าวหน้า รัฐจ่ายงบกว่า 4-5 แสนล้านบาท จ่ายยาต้านไวรัส จนทำให้ผู้ติดเชื้อลดลง ที่ติดเชื้ออยู่ก็ร่างกายแข็งแรงทำงานได้ตามปกติ ไม่ถ่ายทอดสู่ผู้อื่นแล้ว ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ พบว่าปี 2563 – 2565 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิด้านเอดส์ 129 กรณี มี 75 กรณี เป็นการเลือกปฏิบัติ
เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมทำแบบสำรวจ และลงชื่อเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ขอให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ผ่านทาง https://www.thethaiact.com/survey.php เพื่อส่งผ่านถึงกระทรวงแรงงาน ตามที่เคยมีประกาศกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2555 เรื่อง แนวทางการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ ขณะเดียวกันภาคประชาชนได้มีการลงรายชื่อเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งคาดว่าคงจะหายไปกับสภานี้แล้ว หวังว่ารัฐบาลหน้า พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่จะเห็นความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบาย มองศักดิ์ศรีความเป็นอย่างเท่าเทียม รัฐอย่าติดบ่วงสงเคราะห์ ซึ่งกฎหมายจะเป็นเครื่องมือปลดล็อกตรงนี้ได้