กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดแผนตรวจธุรกิจเสี่ยงนอมินีปี 66 ลุยตรวจ 3 กลุ่มเสี่ยง ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ใน 9 จังหวัดท่องเที่ยว และกรุงเทพฯ ป้องกันคนไทยช่วยเหลือต่างด้าวเลี่ยงกฎหมาย ส่วนผลตรวจที่ผ่านมาพบเข้าข่ายเพียบ ส่งดีเอสไอสอบเชิงลึก และดำเนินคดีแล้ว 66 ราย
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในปี 2566 กรมฯ จะเดินหน้าตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวร่วมถือหุ้นที่อาจมีลักษณะนอมินีอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องปรามมิให้คนไทย หรือนิติบุคคลไทย มีการกระทำในลักษณะให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจ หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อให้คนต่างด้าวหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะตรวจสอบ 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 161 ราย, ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และถือครองอสังหาริมทรัพย์ 123 ราย และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต 41 ราย รวม 325 ราย ในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ โดยในกรุงเทพฯ จะเพิ่มการตรวจสอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก เป็นต้น ในย่านเยาวราชและเขตห้วยขวาง ที่กำลังเป็นประเด็นเรื่องกลุ่มทุนจีนเข้ามาประกอบธุรกิจโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี
สำหรับการตรวจสอบนิติบุคคลทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ กรมฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมที่ดิน กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยมีการประสานข้อมูลและลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และหากตรวจสอบแล้วพบพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินี จะส่งข้อมูลให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนเชิงลึกต่อไป และหากพบพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นนอมินีจริง จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน และกรรมการบริษัทก็มีความผิดด้วย
ส่วนผลการตรวจสอบนอมินี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-65 พบว่าปี 2564 พบพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดนอมินีมากสุดถึง 145 ราย เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 44 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง 89 ราย ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต 3 ราย ธุรกิจบริการ 9 ราย ส่วนปี 2558 เข้าข่าย 13 ราย, ปี 2559 เข้าข่าย 15 ราย, ปี 2560 เข้าข่าย 4 ราย, ปี 2561 เข้าข่าย 2 ราย, ปี 2562 เข้าข่าย 4 ราย, ปี 2563 เข้าข่าย 5 ราย และปี 2565 เข้าข่าย 3 ราย ซึ่งทั้งหมดได้ส่งให้ดีเอสไอตรวจสอบเชิงลึกไปแล้ว และได้ดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับนอมินีแล้วรวม 66 ราย
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้กำหนดแนวทางการป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล กำหนดให้ส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรอง หรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนเองได้ และภายหลังจดทะเบียนจะจัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง และกำหนดเป็นแผนงานโครงการประจำปีเพื่อตรวจสอบเชิงลึก ซึ่งมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรดำเนินการตรวจสอบ