การตลาด - โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา เครือโรงแรมชั้นนำของประเทศไทย ก้าวสู่ความสำเร็จ 40 ปีในไทย เดินหน้าขยายธุรกิจและโรงแรมไปยังตลาดใหม่ทั่วโลก พร้อมพัฒนาคอนเซ็ปต์แบรนด์โรงแรมใหม่ๆ ในปีพ.ศ. 2566 เพื่อเติบโตธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 100 แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกภายใน 5 ปี
ปีพ.ศ. 2566 นับเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราในประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ด้วยเอกลักษณ์การบริการลูกค้าอันอบอุ่นเสมือนครอบครัวพร้อมไมตรีจิตแบบไทย ที่มาพร้อมที่พักมาตรฐานระดับโลกและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยปีนี้เซ็นทาราพร้อมจัดแคมเปญยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการขอบคุณและคืนกำไรให้กับลูกค้าของเซ็นทาราจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงร่วมกระตุ้นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งในไทยและทั่วโลก
เซ็นทาราเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งตลอดปีพ.ศ. 2565 โดยในปีที่ผ่านมานั้นเซ็นทารามีรายได้รวมอยู่ที่ 18,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวมอยู่ที่ 4,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนสุทธิ 1,734 ล้านบาท) โดยมีภาพรวมของอัตราการเข้าพัก (OCC) อยู่ที่ 52% และราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) อยู่ที่ 4,791 บาท ส่งผลให้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เพิ่มขึ้น 193% เทียบปีก่อน เป็น 2,486 บาท
เซ็นทารามุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 100 แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกภายใน พ.ศ. 2570 ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2565 เซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ทในเครือทั้งหมด 92 แห่ง (เปิดให้บริการแล้ว 50 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 42 แห่ง) มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 19,348 ห้องพัก ใน 13 ประเทศ
นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า “ในปีพ.ศ. 2566 นี้ เราพร้อมรุกขยายเครือข่ายโรงแรมและผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกฟื้นตลาดท่องเที่ยวในไทยและต่างประเทศ พร้อมมอบประสบการณ์การบริการด้วยไมตรีจิตไทยอย่างเหนือระดับของเซ็นทาราให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก”
โดยในช่วง 3 ปีจากนี้ เซ็นทารา ตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ประมาณ 15,000 – 32,000 ล้านบาท รวมท้้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมเพราะใช้เงินลงทุนมากกว่า ขณะที่ธุรกิจอาหารคาดว่าจะใช้งบประมาณเฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี
ในปีพ.ศ. 2566 นี้ เซ็นทารามีแผนเปิดโรงแรมเพิ่มทั้งสิ้น 6 แห่ง ใน 2 ประเทศ ซึ่งเซ็นทาราคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ย ในปี พ.ศ. 2566 จะอยู่ที่ 65% - 72% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโต 30% - 37% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 3,250 – 3,400 บาท โดยการเติบโตของ RevPar มาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโรงแรมต่างประเทศ เช่นที่ในมัลดีฟส์ ดูไบและญี่ปุ่นที่ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาห้องพักในประเทศไทย
สำหรับแผนการขยายโรงแรมในไทยในปีนี้ เซ็นทาราเดินหน้าตอกย้ำความเป็นเครือโรงแรมชั้นนำ ด้วยการเตรียมพร้อมเปิดให้บริการโรงแรมภายในประเทศเพิ่ม 5 แห่ง ได้แก่ ในอุบลราชธานี จำนวน 160 ห้องพัก (เปิดให้บริการวันที่ 10 มีนาคม), ระยอง จำนวน 200 ห้องพัก (ไตรมาส 3), สุราษฎร์ธานี จำนวน 110 ห้องพัก (ไตรมาส 3), อยุธยา จำนวน 224 ห้องพัก (ไตรมาส 4) และบนเกาะสมุย จำนวน 61 ห้องพัก (ไตรมาส 3) รวมถึงการลงนามสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่งในไทย ที่สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ กระบี่ และเชียงราย
ในส่วนของการเติบโตในตลาดต่างประเทศ เซ็นทาราจะเปิดให้บริการโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า โรงแรมแห่งแรกภายใต้แบรนด์เซ็นทาราแกรนด์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ upper upscale ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในย่านนัมบะ มีความสูง 33 ชั้น พร้อมห้องพักจำนวน 515 ห้อง โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 นี้
นอกจากนี้ เซ็นทารายังมีแผนเปิดสำนักงานในหัวเมืองสำคัญอย่างโฮจิมินห์ เซี่ยงไฮ้ และดูไบในปีนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงมีแผนเปิดสำนักงานเพิ่มอีกแห่งในโอซาก้าในปีหน้า เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในภูมิภาค นอกจากนั้น เซ็นทารายังตั้งเป้าลงนามสัญญาบริหารโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 10 แห่ง ในต่างประเทศ ณ จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม และกาตาร์
โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเซ็นทาราในตลาดต่างประเทศ คือการลงนามสัญญาบริหารเพื่อเปิดให้บริการโรงแรมในประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในจีนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นตลาดหลักของเซ็นทารา อย่างไรก็ดี เซ็นทารายังคงมองหาโอกาสใหม่ๆ ในหัวเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ เพื่อเติบโตธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
จากความสำเร็จและกระแสตอบรับอันท่วมท้นของโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย โรงแรมแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ แห่งแรกที่เปิดตัวไปในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เซ็นทาราจึงเตรียมขยายความสำเร็จของแบรนด์ เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวหลักอื่นๆ อาทิ ในพื้นที่หัวหิน กระบี่ และมัลดีฟส์
เซ็นทารายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมาพร้อมกับแผนระยะยาวในการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง อาทิ การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single used plastic) ภายในปีพ.ศ. 2568, การให้โรงแรมและรีสอร์ทในเครือทุกแห่งได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมจาก Global Sustainable Tourism Council – GSTC ภายในปีพ.ศ. 2568, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ด้วยการบริหารจัดการการใช้พลังงาน การใช้น้ำ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพภายในปีพ.ศ. 2572 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2593
นายกันย์ ศรีสมพงษ์, ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และ รองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ CENTEL) กล่าวว่าการเติบโตของธุรกิจในปีนี้ จะมาจากทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร โดยโรงแรมในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตจากฐานต่ำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยการเติบโตมาจากโรงแรมระดับ 5 ดาว รวมถึงแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ (Centara Reserve) ทั้งในกรุงเทพและแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวหลัก เป็นสำคัญ สำหรับโรงแรมที่มัลดีฟส์คาดว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน
เนื่องจากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปี 2566 การเติบโตของรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดโรงแรมใหม่ (Inorganic Growth) โดยบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการดำเนินงานโรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป ภาพรวมปี 2566 คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) 65% - 72% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโต 30% - 37% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 3,250 – 3,400 โดยการเติบโตของ RevPar มาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากโรงแรมในต่างประเทศที่เมืองดูไบและประเทศญี่ปุ่นที่ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาห้องพักในประเทศไทย
สำหรับธุรกิจอาหารคาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินตามปกติ บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) ไม่รวมกิจการร่วมทุน เติบโต 7% - 9% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 13% - 15% เทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทฯ คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิรวมแบรนด์ร่วมทุน ประมาณ 120-150 สาขา (รวมสาขา shop-in-shop อาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) เทียบกับปี 2565 โดยแบรนด์ที่เน้นการขยายสาขาเพิ่มได้แก่ เค เอฟ ซี, มิสเตอร์โดนัท, อานตี้ แอนส์, สลัดแฟคทอรี, ส้มตำนัว และ ชินคันเซ็น ซูชิ
นอกจากนั้น เซ็นทารายังขยายเครือข่ายพันธมิตรทางการตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจสายการบิน ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบโปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวัน (CentaraThe1) ซึ่งในปัจจุบันมีฐานลูกค้าในโปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวันแล้วกว่า 7 ล้านคน โดยสำหรับในปีนี้เซ็นทาราตั้งเป้าเพิ่มฐานสมาชิกเซ็นทาราเดอะวันให้ได้มากกว่า 8 ล้านคน
นอกจากโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราจะครบรอบ 40 ปีแล้วนั้นในปีนี้โปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวันก็ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ด้วยเช่นกัน เซ็นทาราจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรทางการตลาดอย่างสายการบินชั้นนำระดับโลก อย่างกาตาร์ แอร์เวย์, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และเตอร์กิช แอร์ไลน์ เพื่อมอบสิทธิประโยชน์มากมายให้แก่สมาชิกเซ็นทาราเดอะวันผ่านแคมเปญแลกเปลี่ยนคะแนนกับสมาชิกได้สะดวกและคุ้มค่ายิ่งขึ้น
ล่าสุด เซ็นทาราผนึกกำลังร่วมกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่โปรแกรมเซ็นทารา เดอะวัน (CentaraThe 1) โดยสมาชิกเซ็นทารา เดอะวัน สามารถนำคะแนนเซ็นทารา เดอะวัน ทุกๆ 5,000 คะแนน ไปแลกเป็นไมล์สะสม KrisFlyer ได้ 300 ไมล์ การเป็นสมาชิกใหม่หรือสมาชิกปัจจุบันของโปรแกรม KrisFlyerสมาชิกจะสามารถสะสมไมล์ได้เร็วขึ้น และใช้ไมล์สะสมเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินหรืออัพเกรดที่นั่ง ซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ KrisShop รวมถึงซื้อกิจกรรมท่องเที่ยวบนเว็บไซต์ Pelago ท่ามกลางของรางวัลอื่น
“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางการตลาดกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เพื่อมอบสิทธิพิเศษให้แก่สมาชิก KrisFlyer ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ผ่านแคมเปญแลกเปลี่ยนคะแนนกับสมาชิกเซ็นทารา เดอะวัน ซึ่งเราหวังว่าการจับมือกับสายการบินชั้นนำระดับโลกอย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มช่องทางและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้สามารถออกไปค้นหาจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ณ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราที่มีให้เลือกมากมายหลายแห่งทั่วโลกได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น” นายทอม ธรัสเซล รองประธานฝ่ายแบรนด์ การตลาดและดิจิตอล โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าว
“ปีนี้นับเป็นปีที่น่าตื่นเต้นของเซ็นทารา ทั้งการฉลองครบรอบ 40 ปี ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก แม้ต้องเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระนั้นเรายังสามารถเติบโตและขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย เซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ และเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้” นายธีระยุทธ กล่าว