การตลาด - เปิดเคสธุรกิจ ปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ช่วงโควิดระบาดหนัก เพื่อเตรียมความพร้อมความแข็งแกร่ง กลับมาเปิดเกมรุกอีกครั้งหลังโควิดเริ่มซาลง รวมทั้งการที่จีนเปิดให้ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้เมื่อเดือนที่แล้ว เป็นแรงส่งอย่างดีที่ทำให้ธุรกิจไทยและทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง
หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 มากว่า 2 ปี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง จากภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณบวก พร้อมปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด รวมถึงการเปิดประเทศของหลายประเทศ และเชื่อว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566
อีกทั้งเมื่อรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ และอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ มีผลเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 โดยจะส่งผลดีต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนของไทย
จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 20-24 ล้านคน ประเมินการใช้จ่ายของชาวต่างชาติมูลค่าประมาณ 0.84-1.01 ล้านล้านบาท แม้ว่าแนวโน้มจะดีขึ้น แต่ตัวเลขยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19
อีกทั้งสภาพแวดล้อมของตลาดยังมีปัจจัยท้าทายหลากหลาย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างในสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของรายได้และการมีงานทำ รวมถึงปัญหาค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องมีแผนการบริหารความเสี่ยงรองรับเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและไม่กระทบสภาพคล่องของธุรกิจ ทั้งการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการศึกษาทิศทางของตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว สำคัญที่สุดคือมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการยังเป็นสิ่งจำเป็น
*** เดสติเนชั่น กรุ๊ป
มร.แกรี่ เมอร์เรย์ (Mr.Gary Murray) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง (CEO & Founder) เดสติเนชั่น กรุ๊ป (Destination Group) หนึ่งในธุรกิจที่ปรับตัวอย่างหนักในช่วงโควิดที่ผ่านมาประกอบธุรกิจพักผ่อนและสันทนาการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. โรงแรม (Hotels) 2. โฮสเทล (Collective Hospitality) 3. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) 4. การจัดงาน Event 5. Travels & Tour ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท Destination ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง แข็งแกร่งรอบด้าน และก้าวสู่บริษัทที่สามารถสร้างผลกำไรได้มากขึ้น
โดยมีสำนักงานใหญ่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการสถานที่ให้บริการทุกแห่งภายใต้กลุ่มบริษัท ลดจำนวนพนักงาน แต่เพิ่มศักยภาพให้บุคลากรทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในส่วนของโรงแรม ร้านอาหาร ที่พักโฮสเทล เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรให้กับทุกกิจการ
ด้วยศักยภาพของธุรกิจ ตั้งแต่การเลือกโลเกชันที่เป็นจุดศูนย์กลางสถานที่ท่องเที่ยว แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ประกอบกับกลยุทธ์ของแต่ละกลุ่มธุรกิจที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน เช่น กลุ่มโรงแรม นำเสนอแพกเกจการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วย Siam Adventure Club สร้างจุดเด่นให้นักท่องเที่ยวเกิดแรงจูงใจที่จะเดินทางมาไทย เน้นการสร้างประสบการณ์ ความสนุกสนาน ให้แก่ลูกค้าที่มาแบบครอบครัว
กลุ่มโฮสเทล นำจุดแข็งในการบริหารโรงแรมมาบริหารโฮลเทส เพิ่มจุดขายที่น่าดึงดูด คือ ปาร์ตี้ ความสนุกสนาน ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวมากกว่าคนรุ่นก่อน อีกทั้งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การจองห้องพักของทั้งโรงแรมและโฮสเทลเต็มไปจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2566 โดยบริษัทมีแผนเพิ่มโฮสเทลเป็น 100-120 แห่ง จำนวนเตียงกว่า 10,000-12,000 เตียง ซึ่งจะทำให้เดสติเนชั่น กรุ๊ป เป็นโฮสเทลที่มีจำนวนเตียงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
ด้านธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทปรับเปลี่ยนแบรนด์ที่มีอยู่ให้กลายเป็น Cloud Kitchen เพื่อจัดส่งออนไลน์ผ่าน Grab, Food Panda และอื่นๆ ดำเนินการเตรียมอาหารออกจากครัวกลางที่เดียว ปัจจุบัน บริษัทมีครัวกลางจำนวน 4 แห่งในกรุงเทพฯ และมีแผนจะขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยในปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทเข้าซื้อกิจการ Scoozi Pizza ในปี 2564 ปัจจุบันสามารถสร้างแบรนด์ให้กลับมาทำกําไรได้อีกครั้ง และเตรียมพร้อมเริ่มต้นแคมเปญ แฟรนไชส์ทั่วประเทศไทยเพื่อเปิดร้านอาหารเพิ่มเติมในตลาดใหม่ในปี 2566 เช่นกัน
ในปีนี้บริษัทมั่นใจว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตเป็นอย่างมาก ซึ่งจะถือเป็นปีที่ดีของกลุ่มธุรกิจเดสติเนชั่น กรุ๊ป โดยบริษัทพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางใหม่ในธุรกิจบริการอย่างเต็มที่ มุ่งเน้นปั้นแบรนด์ที่ดีมีศักยภาพ ภายใต้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงในการทำรีแบรนดิ้ง ต่อยอดสร้างมูลค่ารากฐานให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจสานต่อธุรกิจในอนาคต
*** อรสิริน โฮลดิ้ง
นายปรีดิกร บูรณุปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จํากัด ผู้บริหารโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ-สูง บนทำเลศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ปี 2566 จะเริ่มกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจจะดีขึ้นและคนมีกำลังซื้อมากขึ้น อีกทั้งสัญญาณตลาดที่ดีขึ้น เมื่อรัฐบาลจีนและอีกหลายประเทศประกาศเปิดประเทศ สามารถเดินทางเข้าท่องเที่ยวได้ โดยไม่ต้องกักตัว ส่งผลให้นักธุรกิจต่างประเทศออกมาลงทุนอสังหาฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งลูกค้าของอรสิรินมีหลายกลุ่ม ทั้งชาวไทย 70% และต่างชาติ 30% โดยที่อยู่อาศัยแนวสูงแบ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อเพื่อลงทุน 70% และอยู่อาศัยจริง 30% ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบอยู่อาศัยจริง 100%
ล่าสุดบริษัทเปิดตัว โครงการ คอนโดมิเนียมลักชัวรี The Astra Sky River ชูจุดแข็งทำเลที่ตั้ง ไพรม์โลเกชันของจังหวัดเชียงใหม่ มั่นใจจากความสำเร็จของ The ASTRA 1 คอนโดฯ ถ.ช้างคลาน ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ได้รับผลตอบรับดีมาก ยอดขายเกือบหมด เหลืออีกประมาณ 30 ยูนิต มั่นใจว่า The Astra Sky River สามารถรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ และชาวไทย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์คนเมืองได้อย่างครบวงจร โดยโครงการเสร็จสมบูรณ์ 100% ตอนนี้ยอดขายอยู่ที่ 70% แล้ว จากจำนวนมี 520 ยูนิต กลายเป็นโอกาสทำโครงการนี้ขึ้นมารองรับ และปลายปี 2565 ที่ผ่านมายอดขายช่วงแกรนด์โอเพนนิ่งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20-30 ยูนิต และคาดสามารถปิดการขายประมาณอย่างช้าในปี 2567
นายปรีดิกรกล่าวเสริมว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่มี Database ของการค้นหาข้อมูลเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ยังมีทำเลอำเภอเมือง อำเภอสันทราย อำเภอสารภี ที่ยังเป็นที่ต้องการอยู่ และเทรนด์ในเรื่องของ Wellness City การดูแลผู้สูงวัย ในเรื่องของ hospitality ต่างๆ ตรงนี้ยังเป็นจุดที่ยังเป็นความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่
จากสัญญาณตลาดที่ดีขึ้น รวมทั้งนักธุรกิจจีนและต่างชาติที่ออกมาลงทุนต่างประเทศ ที่ต้องการที่อยู่อาศัยระยะยาวและเป็นบ้านพักตากอากาศ ส่งผลให้บ้านที่เป็นระดับ Luxury จะขายดีแน่นอน เพราะคนจีนและชาวต่างชาติเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง กลายเป็นโอกาสการในเติบโตให้บริษัท
นอกจากโครงการ The ASTRA Sky River ที่เปิดแล้ว อรสิรินมีเปิดโครงการบ้านเดี่ยว THE ESCAPE (MAHIDOL) MODERN LUXURY POOL VILLA ราคา 20-30 ลบ. มูลค่าโครงการ 500 ลบ. และบ้านสไตล์โมเดิร์นญี่ปุ่น ทำเลถนนวงแหวนรอบ 2 ใกล้แยกรวมโชค ราคา 4.29-8 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 350 ลบ.
สำหรับแผนลงทุนปี 66 เตรียมไว้ 7 โครงการทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ ที่มีจำนวนชั้นไม่มาก รวมมูลค่าโครงการกว่า 4,700 ล้านบาท โดยจะเจาะเทรนด์ใหม่ๆ เช่น แบบบ้านสไตล์ญี่ปุ่น และมีแผนเตรียมทำที่พักอาศัย Wellness เฮาส์ซิ่ง เพื่อที่จะดูแลบุคคลผู้สูงอายุ รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
*** แอร์เอเชีย
นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวว่า กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียได้ผ่านวิกฤตที่สร้างความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงนั้นๆ ด้วยการเพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพใน Ecosystem คือ โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตมากในช่วงที่ผ่านมา และช่วยเข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปจากธุรกิจสายการบินในช่วงโควิด-19
ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาและปรับปรุงแอปพลิเคชันของแอร์เอเชียครั้งใหญ่ให้กลายเป็น "ซูเปอร์แอป" สู่ airasia super App ที่ครอบคลุมบริการจองตั๋วเครื่องบินทั้งสายการบินของแอร์เอเชีย และสายการบินอื่นๆ จองโรงแรม บริการรถแท็กซี่ บริการฟูดดีลิเวอรี และบริการขายประกัน รวมถึงขยายบริการด้าน Wallet ผ่าน bigpay by airasia เพื่อสร้างประสบการณ์ที่สะดวกให้แก่ลูกค้าที่เป็นแฟนคลับของแอร์เอเชีย สามารถใช้บริการได้ง่าย สะดวก และครบวงจรมากขึ้นในที่เดียว
ด้านธุรกิจสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม Capital A ได้เห็นการฟื้นตัวกลับมาที่ดีขึ้น หลังจากหลายประเทศในอาเซียนกลับมาเปิดประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อย่าง เอเชียเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้ช่วงปลายปีนี้มีผู้ใช้บริการเดินทางสายการบินเพื่อท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้จำนวนเที่ยวบินของกลุ่มแอร์เอเชียกลับมาเพิ่มขึ้นมาก
และเชื่อมั่นว่าในปี 66 จะเป็นปีที่กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียกลับมาสร้างผลการดำเนินงานอย่างแข็งแกร่ง ตามแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักมากขึ้น และยังจะมีปัจจัยบวกจากโอกาสที่จีนจะกลับมาเปิดประเทศ หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายควบคุมโควิด-19 มากขึ้น
"โควิด-19 เป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบช็อกโลกมาค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าปี 2023 จะเป็นปีที่หลายๆ อย่างที่ดีมากขึ้น แต่ก็ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ได้ เพราะยังมีประเด็นเรื่องความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เราก็ไม่รู้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความไม่แน่นอนในเรื่องการวางแผนธุรกิจ และกระทบอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่ก็เป็นสิ่งที่เราจัดการและพยายามบริหารจัดการให้อยู่ในจุดที่ดี ซึ่งเราต้องมาโฟกัสการบริหารจัดการและปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ให้ได้" นายโทนี่กล่าว