ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจหัวข้อ "นโยบายรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมอยากได้" ทั้งแก้ปัญหาต้นทุนพลังงาน การเพิ่มขีดแข่งขัน แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แก้ความเหลื่อมล้ำธุรกิจ และแก้ไขปัญหาลดโลกร้อน
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 26 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมอยากได้” พบว่า จากการที่ประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ภาคอุตสาหกรรมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เราจะได้รัฐบาลใหม่ และมีนโยบายใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ คาดหวังให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญต่อกรอบนโยบายใน 5 เรื่อง ดังนี้
1) การแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงานและการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม 3) การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 4) การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME 5) การแก้ไขปัญหาโลกร้อน Climate change มาตรการกีดกันทางการค้า และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละเรื่อง ส.อ.ท.ได้มีการสำรวจความเห็นเจาะลึกในแต่ละประเด็นนโยบายย่อย เพื่อเป็นโจทย์ให้พรรคการเมืองที่มีการหาเสียงอยู่ในขณะนี้ นำไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตต่อไป
จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 255 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในรายละเอียดพบว่านโยบายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงานคือการเร่งเปิดเสรีพลังงานทางเลือก โดยส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน, การปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบจากนโยบายด้านพลังงาน และเร่งเปิดให้เอกชนสามารถใช้ระบบส่ง/จำหน่ายไฟฟ้า (Third Party Access) เพื่อนำไปสู่ Net Metering
ส่วนนโยบายใดช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน (Multiple choices) อันดับแรกคือการเพิ่มบทลงโทษคนกระทำผิด และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมโดยให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ รองลงมาคือ ปรับรูปแบบจากระบบการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐมาเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมาย (Self- Declaration) และตรวจติดตามผล ขยายผลการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ในการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกระดับ เพื่อเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมเข้าไปสังเกตการณ์และตรวจสอบ และสุดท้าย มีรางวัลนำจับให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน
ส่วนนโยบายที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมอันดับแรก คือการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต การส่งเสริมการลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นต้น ขณะที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME เช่น สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SME และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ฯลฯ
สำหรับนโยบายที่มองว่าจะช่วยรับมือกับปัญหาโลกร้อน Climate change และมาตรการกีดกันทางการค้าและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อนำของเสียกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป ฯลฯ