ส่งออก ม.ค. 66 มูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.5% ติดลบ 4 เดือนติด และมูลค่าต่ำสุดรอบ 23 เดือน เหตุเงินเฟ้อคู่ค้าพุ่ง ทำกำลังซื้อลด และการผลิตโลกหดตัว แต่หลายสินค้ายังส่งออกได้ดี ทั้งข้าว ไก่ ผลไม้ รถยนต์ คาดครึ่งปีแรกยังวูบ แต่ครึ่งปีหลังดีขึ้น มั่นใจเป้า 1-2% ทำได้ เผยนำเข้าพุ่ง 2.48 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เหตุนำเข้าน้ำมันแพง ส่วนขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดรอบ 10 ปี
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ม.ค. 2566 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.5% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 700,127 ล้านบาท โดยการส่งออกที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าเกษตร 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลด 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 5.7% และยังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อ และการผลิตโลกหดตัว ทำให้มีการนำเข้าลดลง แต่ก็มีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อการส่งออก เช่น คู่ค้ามีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น มีคำสั่งซื้อรับเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ และสินค้าในกลุ่มที่สนับสนุนพลังงานทางเลือกขยายตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะลดลง แต่สินค้าสำคัญหลายตัวยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ไขมันจากพืชและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนสด มะม่วงสด มังคุดสุด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้หารือกับภาคเอกชนในหลายกลุ่มสินค้า ประเมินเหมือนกันว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก 2566 จะชะลอตัว และลดลง แต่ครึ่งปีหลัง การส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น และยังมั่นใจว่าเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 1-2% จะยังคงใช้เป็นเป้าในการทำงาน โดยจะเพิ่มกิจกรรมบุกเจาะตลาดที่มีโอกาสมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV รวมถึงตลาดจีน ที่มองว่ามีโอกาสส่งออกสูง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การนำเข้าในเดือนม.ค.2566 มีมูลค่า 24,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% โดยปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น มาจากการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่า 5,262 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 84% หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าการนำเข้ารวม และมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.2565 ที่ 77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นเฉลี่ย 80.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนม.ค.2566 และมีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบสัดส่วนประมาณ 60% ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 ทำให้การส่งออกตั้งแต่ต.ค. 2565 จนถึง ม.ค. 2566 ชะลอตัวลงตาม และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 1 ส่วนไตรมาส 2 ยังมีปัจจัยที่ไม่รู้อีกเยอะมาก ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ยุโรป สงครามจะยืดเยื้อหรือไม่ ค่าเงินเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะดีกว่าไตรมาส 1 และคาดว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น โดยตอนนี้ ปัญหาเรื่องการขนส่ง ค่าระรางเรือ ไม่มีแล้ว ตู้มีเพียงพอ ค่าระวางกลับสู่ระดับปกติ และต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ก็มี ส่วนค่าเงินบาท ตอนนี้ 35 บาทบวกลบ ก็เป็นตัวช่วยให้ส่งออกมีแต้มต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกในเดือน ม.ค. 2566 ที่ขยายตัวติดลบ 4.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือนต.ค. 2565 ที่ลบ 4.4% พ.ย. 2565 ลบ 6% และ ธ.ค. 2565 ลบ 14.6% และมีมูลค่าที่ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน นับจาก ก.พ. 2564 ส่วนการนำเข้าที่สูงขึ้น ทำให้ยอดขาดดุลการค้ามีมูลค่า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี