นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ก.พ.) ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.85 บาท/ดอลลาร์ โดยแม้ว่ารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์จะปรับตัวขึ้นน้อยกว่าคาดสู่ระดับ 47.7 จุด และยังคงสะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด) ทว่าหากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าดัชนีด้านราคา (Price Index) กลับเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 51.3 จุด จากก่อนหน้าที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สะท้อนแนวโน้มราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นในอัตราเร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงได้ช้าและจะส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลงต่อ ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.66% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.47%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงเมื่อวานที่ผ่านมานั้น มาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ที่สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งเอเชีย รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ นอกจากนี้ การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทยังได้แรงหนุนจากการขายทำกำไร รวมถึง Stop loss สถานะ Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ อย่างน้อยจนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำให้เรามองว่าเงินบาทจะยังคงไม่กลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนและยังคงแกว่งตัว Sideways Up อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง หากรายงานยอดการส่งออกและการนำเข้าของกรมศุลฯ สะท้อนว่า การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่มาจากการนำเข้ายุทธปัจจัยเพื่อใช้ในการซ้อมรบ Cobra Gold นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนออกมาสูงกว่าคาด และยังคงหนุนให้เงินยูโร (EUR) ทรงตัวหรือแข็งค่าขึ้นได้บ้าง อาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.74% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนียังคงอยู่ที่ระดับ 8.7% สูงกว่าที่ตลาดคาด (สอดคล้องกับรายงานอัตราเงินเฟ้อของทั้งฝรั่งเศสและสเปนที่รายงานก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมบ้าง หลังรายงานดัชนี PMI ล่าสุดของจีนออกมาดีกว่าคาดพอสมควร สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ซึ่งล่าสุดสะท้อนผ่านโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% รวมถึงโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแตะ 6.00% ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% (จาก CME FedWatch Tool) ได้ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 4.00% อีกครั้ง ซึ่งโซน 4.00% ถือได้ว่าเป็นแนวต้านสำคัญของบอนด์ยิลด์ 10 ปี ทำให้ต้องจับตาใกล้ชิดว่า บรรดานักลงทุนจะกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยิลด์ ปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างที่เราได้ประเมินไว้หรือไม่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งเอเชีย รวมถึงสกุลเงิน Commodity-related อย่างเงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) และเงินยูโร (EUR) หลังรายงานดัชนี PMI ของจีนออกมาดีกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนีออกมาสูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมารีบาวนด์ขึ้นได้และแกว่งตัว sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดอีกครั้ง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดเอเชียเปิดทำการ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนแตะโซนแนวต้าน 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1,843 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงการซื้อขายในฝั่งสหรัฐฯ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนที่ทยอยสะสมในโซนแนวรับเริ่มขายทำกำไรการรีบาวนด์ของราคาทองคำบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ซึ่งหากยอดดังกล่าวยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หรือทรงตัวใกล้เคียงระดับเดิมจะยังคงสะท้อนแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่คลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ยังสูง เช่น 8.2% ตามที่ตลาดประเมิน จะยิ่งหนุนโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งผู้เล่นในตลาดล่าสุดคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate จนแตะระดับ 3.75% ได้ในปีนี้ จากระดับล่าสุดที่ 2.50%
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนมกราคมของไทย (ข้อมูลจากกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์) หลังจากที่ในช่วงต้นสัปดาห์ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานดุลการค้าที่ขาดดุลถึง -2.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดดุลการค้าดังกล่าวได้กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าหนักจนแตะระดับ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลยอดการส่งออกและนำเข้าของกรมศุลฯ ว่า การขาดดุลการค้าดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เช่น ยอดการนำเข้ายุทธปัจจัยสำหรับการซ้อมรบ Cobra Gold หรือไม่ เพราะหากเกิดจากการซ้อมรบอาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่ไม่ได้สะท้อนภาพปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป