xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.37 กังวลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย 
เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ก.พ.) ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์

ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.78% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.38% ชี้ว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างชัดเจน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงช้า กดดันให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากที่ข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ 194,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ และดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ในเดือนมกราคมเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 6.0% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และบางท่านสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นเป็นไปตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่เงินบาทอ่อนค่าหนักไปทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อยจากโซนแนวต้านดังกล่าว

เราประเมินว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อค่าเงินบาทจะยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์อย่างต่อเนื่องได้ ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจเริ่มเป็นลักษณะ sideways ในกรอบใหม่ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้า โดยเราประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วง 34.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ และถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ เราประเมินว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อไปถึงโซน 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นการชะลอลงของการอ่อนค่าได้บ้าง เนื่องจากโซนดังกล่าวอาจเป็นจุดที่ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Long USDTHB จะเริ่มขายทำกำไรมากขึ้น

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นได้ราว +0.19% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ต่างออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม เช่น Kering +3.2% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอยู่ ทำให้การปรับตัวขึ้นเป็นไปอย่างจำกัด

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตที่เร่งตัวขึ้นและภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ได้ส่งผลให้ บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.86% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสำหรับบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญแถว 3.90%-4.00% ซึ่งน่าจับตามองว่าผู้เล่นในตลาดจะกลับมาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวมากน้อยขนาดไหน เพราะหากแรงซื้อบอนด์ในจังหวะย่อตัวยังคงมีอยู่ อาจทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อไปไกลมาก แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.1 จุด ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการเข้ามาถือของผู้เล่นในตลาดท่ามกลางภาวะตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) แกว่งตัวผันผวนหนัก และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 1,850-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 1,842 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทยตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า อาจขยายตัวราว +3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของทั้ง ECB และเฟด
กำลังโหลดความคิดเห็น