นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ม.ค.) ที่ระดับ 32.72 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 32.83 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.85 บาท/ดอลลาร์ ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.18% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.02% โดยปัจจัยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือ ความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจออกมาย่ำแย่ หลังจากที่หลายบริษัทในสัปดาห์นี้ เช่น บริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft ได้รายงานผลประกอบการล่าสุดแย่กว่าคาด พร้อมกับให้มุมมองแนวโน้มผลประกอบการในอนาคตแย่กว่าที่ตลาดคาดอีกเช่นกัน ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ในไตรมาสที่ 4 อาจลดลงถึง -3%y/y แย่ลงจากที่เคยประเมินไว้ว่าจะลดลง -1.6%y/y ในตอนต้นปี
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน คือ ปัจจัยที่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงาน GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 และ รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน เพราะหากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดอาจหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวนด์ขึ้นได้บ้าง นอกจากนี้ หากตลาดพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงจากรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดอาจกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทำให้โฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้เช่นกัน ทั้งนี้ เราคงมองโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทอยู่ในช่วง 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับสำคัญยังคงเป็นช่วง 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลง -0.29% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่อาจออกมาแย่กว่าคาดเช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันไม่ให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรปกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นในระยะสั้นนี้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 101.6 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน ความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ อย่างหุ้นสหรัฐฯ มีความน่าสนใจน้อยลง เมื่อเทียบกับการลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ (นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์ผลประกอบการตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่คาดการณ์ผลประกอบการในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลง) ทั้งนี้ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด กอปรกับ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถรีบาวนด์ขึ้นจากโซนแนวรับ สู่โซนแนวต้านแถว 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่าการปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงาน GDP ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งตลาดประเมินว่า ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวได้ +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อเทียบเป็นรายปี แต่เป็นการชะลอลงของเศรษฐกิจจากที่โตได้กว่า +3.2% ในไตรมาสที่ 3 สะท้อนผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด รวมถึงแรงกดดันจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาทิศทางตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) หลังจากล่าสุด หลายบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มเทคฯ ได้ทยอยปรับลดการจ้างงานลงถึง 8.4 หมื่นต่ำแหน่งนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดอาจช่วยทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้บ้าง