xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดแข็งค่าที่ 33.00 กังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ธ.ค.) ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.20 บาท/ดอลลาร์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญล่าสุด อย่างยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนธันวาคม ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เดินหน้าขายสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจนแตะระดับสูงกว่า 5% ยิ่งกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.56% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยประกาศออกมา โดยหากผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อาจกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการรีบาวนด์ของเงินดอลลาร์ในภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด และส่วนหนึ่งอาจมาจากการทยอยปิดสถานะ Short USDTHB ของผู้เล่นต่างชาติบางส่วน ทำให้ เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้างหากตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งในวันนี้ ต้องระวังการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างข้อมูลตลาดแรงงาน เนื่องจากภาพตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ทำให้เงินดอลลาร์ยังคงมีปัจจัยหนุนอยู่ รวมถึงท่าทีของประธาน ECB ต่อแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโร (EUR) โดยเงินยูโรมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากประธาน ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ECB อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าเงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์และเพิ่มสถานะ Short USDTHB

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.23% ตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Anglo American +2.3%) ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่องได้กดดันให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว -12bp สู่ระดับ 3.38% ทั้งนี้ แม้เรามีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปี ซึ่งอาจส่งผลให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวปรับตัวลดลงต่อได้ แต่ระดับบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในปัจจุบันได้ปรับตัวลงมาเร็วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เรามองว่านักลงทุนควรรอจังหวะให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี มีการปรับตัวขึ้นบ้าง (เน้น Buy on Dip) ในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวนด์ขึ้นสู่ระดับ 102.4 จุดอีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 1,910 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าหากราคาทองคำมีการย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้โซนแนวรับแถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims)

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่าธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่อง +0.25% สู่ระดับ 3.00% และ 5.75% ตามลำดับ

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมของ BNM และ BI ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของประธาน ECB (Christine Lagarde) หลังผู้เล่นในตลาดต่างลุ้นว่า ECB จะส่งสัญญาณชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้บ้างหรือไม่ จากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
กำลังโหลดความคิดเห็น