xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.03 ติดตามรายงานข้อมูล ศก.สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ม.ค.) ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.20 บาท/ดอลลาร์ บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากล่าสุดรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด เช่น ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 2.35 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้เพียง 1.5 แสนราย นอกจากนี้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.04 แสนราย และ 1.69 ล้านราย ดีกว่าที่ตลาดคาด ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดนั้นได้สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดแตะระดับ 5.25% (จาก CME FedWatch Tool) ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.73% กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวลงแรง และทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.57% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.16%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงการปรับตัวลงของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่าปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยต้องระวังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม การเติบโตของค่าจ้าง และดัชนี PMI ภาคการบริการ เนื่องจากในช่วงที่ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดและสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้ออาจชะลอตัวลงได้ช้า จะกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และส่งผลให้ตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ (Good News is Bad News for the Market) ซึ่งในภาวะดังกล่าวเราอาจเห็นเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลงของราคาทองคำและเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากนัก โดยแนวต้านสำคัญของเงินบาทในระยะสั้นจะอยู่ในโซน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนในตลาด เช่น บรรดาผู้ส่งออกบางส่วนรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่ผู้เล่นต่างชาติที่ยังคงมีมุมมองว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการเพิ่มสถานะ Short USDTHB

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.20% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +1.3% Equinor +0.7%) ตามการรีบาวนด์ขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 105 จุด อีกครั้ง นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลงแรงสู่ระดับ 1,836 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงในการทยอยเข้าซื้อ โดยเฉพาะหากราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจลดลงสู่ระดับ 2 แสนตำแหน่ง ตามการปรับแผนการจ้างงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (+5.0%y/y) ซึ่งภาพดังกล่าวจะชี้ว่า แม้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมากขึ้น แต่ยังเป็นการชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อผ่านตลาดแรงงาน (การเติบโตของค่าจ้าง) อาจชะลอลงตัวลงช้ากว่าที่เฟดต้องการ ทำให้เฟดยังคงกังวลแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ ซึ่งอาจสะท้อนในรายงานการประชุมล่าสุดของเฟด (FOMC Meeting Minutes) ที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) ในเดือนธันวาคม โดยตลาดประเมินว่าภาคการบริการจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นและการขยายตัวของการใช้จ่ายในภาคการบริการ ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 55 จุด ทั้งนี้ การขยายตัวของภาคการบริการนั้นอาจทำให้เงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการยังอยู่ในระดับสูงและอาจทำให้เงินเฟ้อโดยรวมชะลอลงยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น