xs
xsm
sm
md
lg

"ศักดิ์สยาม" เร่งแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนในที่ดินรถไฟและทางหลวง เดินหน้าก่อสร้างโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ติดตามคืบหน้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนในที่ดินรถไฟ และโครงการทางหลวง กำชับดำเนินการตามกฎ ระเบียบ มติ ครม. และหลักธรรมาภิบาล ด้าน รฟท.วางแผนแนวทางโยกย้าย เปิดพื้นที่ก่อสร้างรถไฟทางคู่ไฮสปีดสายสีแดง และพัฒนาย่านพหลฯ

วันที่ 1 มีนาคม 2566นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม โดยมีผู้แทนจากกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ผู้แทนภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ประกอบกับคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 5/2563 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และเร่งรัดติดตามผลการดำเนินการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน นั้น

ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด


คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ ได้รายงานผลการดำเนินการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชน ในที่ดินของการรถไฟฯ จำนวน 13 เรื่อง

1. นโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินของ รฟท. จากการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 การสอบทานยืนยันข้อมูลชุมชนร่วมกัน ระหว่าง รฟท. พอช. และชุมชน เมื่อข้อมูลชุมชนได้รับการตรวจสอบยืนยันครบถ้วนแล้ว จะได้เสนอพิจารณาถือใช้นโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท.ทั่วประเทศ ตามมติคณะกรรมการ รฟท. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 การนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการฯ คาดว่าจะดำเนินภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2566

ทั้งนี้ รฟท.แจ้งยืนยันข้อมูลชุมชนต่อ พอช. เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 เพื่อเสนอเป็นข้อมูลต่อสำนักงบประมาณ พิจารณาก่อนรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี

2. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ ชุมชนบุญร่มไทร และชุมชนแดงบุหงา เขตพญาไท จำนวน 212 ครัวเรือน เนื่องจากเดิมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวสูงของ กคช.ติดปัญหากรณีการถมบึงมักกะสัน รฟท. พอช. และภาคประชาชน จึงขอเสนอแนวทางการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในแนวราบ (บ้านมั่นคง) ริมบึงมักกะสันแทนรูปแบบแนวสูงเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

ในระหว่างนี้ได้ดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราวและเข้าอยู่อาศัยแล้ว จำนวน 16 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างดำเนินการระยะที่ 2 จะดำเนินการบรรเทาผลกระทบผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในแนวส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง จำนวน 36 ครัวเรือน คาดว่าจะก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวได้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 นี้

3. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธิน เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ และพื้นที่บริเวณนิคมรถไฟ กม.11 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ซึ่งจากการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ของ รฟท. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ได้พิจารณาเกี่ยวกับพื้นที่ที่ชุมชนเสนอ (ริมทางรถไฟฟ้าสายใต้ใกล้ชุมชนโชติวัฒน์ เขตบางซื่อ) อยู่ในพื้นที่ออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายใต้ จึงต้องพิจารณาพื้นที่รองรับในพื้นที่อื่นร่วมกันใหม่ต่อไป

4. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ชุมชนฯ ประสงค์ขอเช่าที่ดิน รฟท. จำนวน 2 แปลง ดังนี้ (1) พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟสำราญ จังหวัดขอนแก่น ชุมชนหนองแวงตราชู (ใหม่) พอช.มีหนังสือขอเช่าต่อ รฟท.แล้ว และ รฟท.ได้ประสาน อบต.ศิลา ในการใช้สิทธิเหนือพื้นดินเพื่อก่อสร้างถนนเข้าชุมชนแล้ว (2) พื้นที่บริเวณย่านสถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่เช่า แปลง R5 (โครงการ TOD ขอนแก่น) พอช.ได้เสนอรายชื่อสมาชิก และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเช่าเป็น 30 ปี คาดว่าจะดำเนินการอนุมัติให้เช่าทั้ง 2 แปลง ภายในเดือนมีนาคม 2566
5. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-สงขลา คาดว่าจะดำเนินการในปี 2567-2568 (หลังจากดำเนินการทบทวนแบบแปลนก่อสร้างแล้วเสร็จ) ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลและเจรจากับชุมชนที่บุกรุกในพื้นที่บ้านบางดาน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
6. กรณีการขอเช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนโรงปูนตะวันออก กรุงเทพฯ จากการประชุมคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการ รฟท. (MC) พิจารณาว่าควรนำนโยบายของกระทรวงคมนาคมมาใช้ในการพัฒนาที่พักอาศัยในแนวสูง พอช.ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในแนวราบตามความประสงค์ของชุมชนฯ เพื่อ รฟท.นำเสนอ MC พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาต่อไป

7. กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงชุมทางตลิ่งชัน-ศิริราช กรุงเทพฯ (บางระมาด และพุทธมณฑลสาย 2) พื้นที่บางระมาดที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภครถไฟสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช) ต้องปรับลดพื้นที่เช่าบางส่วน ได้ตรวจสอบพื้นที่ และอยู่ระหว่างจัดทำแผนผัง เพื่อคำนวณปรับลดพื้นที่เช่า และสำหรับพื้นที่พิพาท (เช่าเปิดทางเข้า-ออก) ได้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมกัน โดยมีมติให้ใช้พื้นที่เข้า-ออกร่วมกัน 4 เมตร โดยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ได้ลงพื้นที่และทำบันทึกตรวจร่วมทางเข้า-ออก เพื่อไปแถลงต่อศาล ปัจจุบันได้ส่งข้อมูลประกอบการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลต่อไป ส่วนพื้นที่พุทธมณฑลสาย 2 ได้ตรวจสอบพื้นที่เพื่อปรับลดค่าเช่าย้อนหลังนับตั้งแต่มีคดีพิพาท (ทายาทเจ้าของที่ดินเดิม) อยู่ระหว่างการคำนวณพื้นที่ปรับลด เพื่อเสนอปรับลดค่าเช่าต่อไป

8. กรณีการคิดอัตราค่าเช่าใหม่ให้เป็นไปตามอัตราค่าเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยของชุมชนพระราม 6 เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ จะดำเนินการเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาภายหลังการอนุมัติหลักการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท.ทั่วประเทศต่อไป

9. กรณีการแก้ปัญหาพื้นที่เช่าชุมชนตลาดบ่อบัว จังหวัดฉะเชิงเทรา รฟท.ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกในพื้นที่แล้ว จำนวน 25 ราย อยู่ระหว่างการบังคับคดี 24 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 1 ราย ในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ รฟท.ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ผู้แทน ขปส.แจ้งว่า กลุ่มผู้บุกรุกดังกล่าวได้เข้ามาเจรจากับชุมชนฯ แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงด้วย แต่เนื่องจากมีพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ ได้ประสานให้ พอช.จัดหาที่ดินของหน่วยงานอื่นหรือเอกชนรองรับต่อไป


10. กรณีการแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินของ รฟท.พื้นที่จังหวัดตรัง พอช.ได้ทำหนังสือแจ้งรายชื่อชุมชน และสมาชิกประกอบการขอเช่าที่ดินจำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองมวน ชุมชนควนดินแดง ชุมชนทางล้อ และชุมชนลำภูรา (ชายเขาใหม่พัฒนา) อยู่ระหว่างการขออนุมัติให้เช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566

11. กรณีการแก้ไขปัญหาพื้นที่เช่าชุมชนรถไฟสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาเกี่ยวกับการค้างชำระค่าเช่าของ พอช. (สมาชิกชุมชนฯ) อยู่ระหว่าง รฟท.ดำเนินคดีแพ่ง และ พอช.ได้ดำเนินคดีต่อสมาชิกที่ไม่ชำระค่าเช่าเช่นกัน โดยมี รฟท.เป็นโจทก์ร่วม สำหรับการขอเช่าใหม่เพื่อทำโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 26 ครัวเรือน จากเดิม 73 ครัวเรือน ซึ่ง พอช.ทำการวางผังเพื่อขอเช่าฯ แล้วเสร็จ ทั้งนี้ พอช.และ รฟท.จะได้หารือกันในระดับนโยบาย และรับผลพิจารณาทางกฎหมายประกอบการขอเช่า/ให้เช่าต่อไปด้วย
12. กรณีการดำเนินการทางกฎหมายต่อสมาชิกที่ไม่ชำระค่าเช่า หลังจากคณะทำงานย่อยฯ ของ รฟท. ผู้แทนชุมชน และ พอช.ลงพื้นที่ชุมชนนำร่อง เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ค้างค่าเช่าให้ชำระค่าเช่าแล้ว ให้เครือข่ายผู้แทนชุมชนเผยแพร่ข้อมูลต่อชุมชนอื่นๆ ที่มีรูปแบบเดียวกันแล้ว พอช.ได้ดำเนินคดีต่อสมาชิกที่ค้างชำระค่าเช่า โดยมี รฟท.เป็นโจทก์ร่วม ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนนำเงินค่าเช่าที่ค้างชำระมาทยอยจ่ายให้ พอช.
13. กรณีการขอคืนพื้นที่เช่าในส่วนที่เป็นถนนสาธารณประโยชน์ และในส่วนที่ชุมชนไม่ประสงค์จะขอเช่าพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่าง พอช.และชุมชนสำรวจข้อมูล จัดทำแผนผัง เพื่อเสนอต่อ รฟท.ปรับลดพื้นที่เช่า และค่าเช่า

ส่วนการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการดำเนินโครงการของกรมทางหลวง จำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ กรณีโครงการก่อสร้างสะพานรถยนต์ โครงการระบายน้ำแม่น้ำตรัง ตำบลบางรัก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ทล.ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดตรังแล้วว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 103 ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งหนองเป็ด และเป็นการครอบครองภายหลังจากการเป็นที่ดินของรัฐ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ทล.จึงจำเป็นจะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ราษฎร ซึ่งจังหวัดตรังได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือฯ แล้วนั้น ปัจจุบัน ทล.ได้แจ้งราษฎรทำสัญญารับเงินช่วยเหลือจำนวน 12 ราย ทำสัญญาแล้ว 4 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนของศาล 2 ราย ส่วนอีก 6 รายอยู่ระหว่างการเจรจา


กำลังโหลดความคิดเห็น