xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” พบ IMO ตรวจประเมินระบบปฏิบัติงานขนส่งทางน้ำไทย ชี้ทันสมัย ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ศักดิ์สยาม" พบคณะ IMO รายงานผลตรวจประเมินสมาชิกองค์กรทางทะเล ชื่นชมประเทศไทยมีระบบการปฏิบัติงานขนส่งทางน้ำโดดเด่น ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

วันที่ 27 ก.พ. 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้คณะผู้ตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme, IMSAS) โดยนายโมลเอน อาซอฟ (Mr. Moain Al Zoubi) หัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมินฯ กัปตันอานิช โจเซฟ (Capt. Anish Joseph) นายอาจิ วาสุเดวัน (Mr. Aji Vasudevan) เข้าพบเพื่อรายงานผลการตรวจประเมิน พร้อมร่วมกันยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทย โดยมีผู้บริหารกระทรวงฯ กรมเจ้าท่า และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงคมนาคมมีความยินดีกับคณะผู้ตรวจประเมินและหน่วยงานที่เข้าร่วมรับการตรวจประเมินต่อความสำเร็จในการตรวจประเมิน IMSAS หลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมการตรวจประเมิน ระหว่างวันที่ 20-27 กุมภาพันธ์ 2566 โดยประเทศไทยได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) เป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและประสานมาตรฐานสำหรับความปลอดภัย ความมั่นคงของการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ และการป้องกันมลพิษทางทะเลโดยเรือ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก IMO ตั้งแต่ปี 2516 และได้ปรับปรุงมาตรฐานการเดินเรือ เพื่อความปลอดภัยและการป้องกันสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนากระบวนการเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานทางทะเลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจถึงการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตราสาร IMO

สำหรับโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ เป็นมาตรการเชิงบวกของ IMO ในการยกระดับการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งเป็นการรวบรวมผลการปฏิบัติจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลการจัดทำโครงการช่วยเหลือทางวิชาการให้ประเทศสมาชิกได้พัฒนาความรู้ความสามารถในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาได้โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง

ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศสมาชิกจะนำผลของการตรวจประเมินเกี่ยวกับการดำเนินการในฐานะรัฐเจ้าของธง (Flag State) รัฐเจ้าของท่าเรือ (Port State) และรัฐชายฝั่ง (Coastal State) ไปปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยจะมีการตรวจสอบและติดตามการดำเนินการเป็นระยะเวลาทุก 7 ปี เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


นอกจากนี้ ทางคณะผู้ตรวจประเมินจาก IMO ได้แสดงความชื่นชมว่าประเทศไทยมีระบบการปฏิบัติงานที่โดดเด่นในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน 4 เรื่อง ได้แก่

1. การใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับข้อบกพร่องของเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ (Aids to Navigation: AtoN) ทำให้สามารถซ่อมบำรุงเครื่องหมายการเดินเรือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

2. การนำระบบบูรณาการข้อมูลกิจการทางทะเล (Thai Integrated Shipping Information System: THISIS หรือ ธีซิส ) มาใช้ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และกำกับดูแลการดำเนินการตามตัวชี้วัด (KPI) ทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. การนำระบบ MSI Platform มาใช้ในการให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยทางทะเล โดยบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย อาทิเช่น กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ กรมอุตุนิยมวิทยา สถานีวิทยุ Bangkok Radio และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทำให้การให้ข้อมูลมีความเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว ทันกับสถานการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของ IMO

4. การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ซึ่งปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง ในการเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินเรือ การป้องกันการเกิดมลพิษทางน้ำ และการให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

โดยนายศักดิ์สยามกล่าวขอบคุณคณะผู้ตรวจประเมินที่ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ประเทศไทยในการดำเนินการตามตราสารของ IMO เพื่อพัฒนา การขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น