xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟนำเทคโนโลยียกระดับความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน สู่เป้าหมายองค์กรปลอดอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เดินหน้านโยบาย CPF SHE&En Standard ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน สร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก้าวสู่เป้าหมายองค์กรปลอดอุบัติเหตุ (Zero Accident)


นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้อำนวยการสายงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (SHE&En) เปิดเผยว่า ซีพีเอฟตระหนักและให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพ และความปลอดภัยของพนักงานในการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการดำเนินงานภายใต้นโยบายและมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (CPF SHE&En Standard) ที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล ISO14001 ISO45001 ISO50001 และข้อกำหนดทั้งในประเทศและระดับสากล ครอบคลุมพนักงานและผู้รับเหมา ทำให้ในปีที่ผ่านมา สามารถป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุในโรงงาน ลดอัตราการบาดเจ็บของพนักงานจนถึงขั้นต้องหยุดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล เดินหน้าสู่เป้าหมายเป็นองค์กรปลอดอุบัติเหตุ (Zero Accident)


บริษัทฯ ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงพื้นที่ปฏิบัติงานและเครื่องจักรให้มีความปลอดภัยสูงสุด ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์เสริมและเครื่องอำนวยความสะดวกในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรในบ่อบำบัดน้ำเสีย ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด (Closed-circuit Television : CCTV) พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จัดทำแผนฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่จำเป็นสำหรับพนักงานและผู้รับเหมา เป็นต้น รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยชีวิต


“ซีพีเอฟ ดำเนินงานตามกฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยสากลอย่างเคร่งครัด มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายสำคัญทั้งการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานหรือผู้รับเหมา และการบาดเจ็บจนถึงขั้นหยุดงานของพนักงาน ซึ่งผู้บริหารและพนักงานมีส่วนร่วมในการตรวจประเมินด้านความปลอดภัยเพื่อก้าวสู่เป้าหมายองค์กรที่ปลอดอุบัติเหตุ” นายจารุบุตรกล่าว


ปัจจุบันสายธุรกิจต่างๆ ของซีพีเอฟมีการจัดโครงการที่เน้นลดการเกิดอุบัติเหตุ และพัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน เช่น ธุรกิจไก่ไข่ นำพฤติกรรมความปลอดภัย (Behavior-Based Safety) มาใช้ เพื่อลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์จากพฤติกรรมการขับขี่ ธุรกิจไก่เนื้อครบวงจร สร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัยให้พนักงาน โดยพนักงานที่ต้องใช้รถของบริษัทในการปฏิบัติงานต้องผ่านหลักสูตรอบรมการขับขี่รถยนต์เชิงป้องกัน (Defensive Driving) นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการบริหารจัดการด้าน SHE&En เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์บก นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ควบคุมการทำงานที่มีความเสี่ยงของพนักงานและผู้รับเหมาผ่านระบบ Smart SHE Platform ซึ่งสามารถติดตามและควบคุมการทำงานผ่านแพลตฟอร์ม มีการติดตั้งเทคโนโลยีการตรวจสอบที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์ IoT ส่งข้อมูลเข้าระบบ Real-Time Monitoring แสดงผลสภาพแวดล้อมในการทำงาน และคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน เช่น คุณภาพอากาศ คุณภาพของน้ำทิ้ง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพนักงาน ชุมชน และสร้างแพลตฟอร์มจัดการด้านพลังงาน (Smart Energy Decision) เพื่อสั่งงานเครื่องจักรและบริหารการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด


นอกจากการจัดอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่จำเป็นสำหรับพนักงานและผู้รับเหมา เพื่อสร้างความมั่นใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ซีพีเอฟยังได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยให้แก่สถานศึกษารอบสถานประกอบการ ผ่านการดำเนินโครงการ CPF SHE&En Active Learning และโครงการความปลอดภัยสู่สถานศึกษา (Safety School) เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในแนวปฏิบัติที่ถูกต้องด้านการดูแลความปลอดภัย


จากความมุ่งมั่นในการดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีให้แก่พนักงาน ทำให้ฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟ 18 แห่งได้รับโล่และประกาศเกียรติคุณจากสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ในโครงการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign) ประจำปี 2565 ซึ่งมอบให้แก่สถานประกอบการที่สามารถดำเนินงานโดยไม่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานได้อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น