xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” มั่นใจสอบผ่าน IMO ประเมินมาตรฐาน คาดเกณฑ์ดีเยี่ยม ยกระดับขนส่งทางทะเลของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ควง "อธิรัฐ" เปิดเวทีรับ IMO ตรวจประเมินมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศ กรมเจ้าท่าผนึกหน่วยงานรัฐ มั่นใจสอบผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม (Perfect) ยกระดับขนส่งทางทะเลของไทย

วันที่ 20 ก.พ. 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) ร่วมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศ โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า (จท.) ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยคณะผู้ตรวจประเมินจากประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ ได้แก่ นายโมลเอน อาซอฟ (Mr. Moain Al Zoubi) หัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมินฯ กัปตันอานิช โจเซฟ (Capt. Anish Joseph) และนายอาจิ วาสุเดวัน (Mr. Aji Vasudevan) คณะผู้ตรวจประเมินฯ เข้าร่วม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า คณะผู้ตรวจประเมินจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ได้มาทำการตรวจประเมินประเทศไทยในโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (Member State Audit Scheme: IMSAS) ระหว่างวันที่ 20-27 ก.พ. 2566 โดยประเทศไทยเป็นสมาชิกของ lMO ซึ่งเป็นทบวงการชํานัญพิเศษของสหประชาชาติ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและประสานงานเพื่อส่งเสริมระดับมาตรฐานสำหรับความมั่นคงปลอดภัยของการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ โดยโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกฯ มีพัฒนาการมาจากโครงการภาคสมัครใจ (Voluntary IMO Member State Audit Scheme : VIMSAS)

สำหรับประเด็นการตรวจประเมินฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดทำกลยุทธ์ระดับประเทศในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนด การกำกับดูแลการดำเนินการโดยคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อประสานงานกับ IMO การลงนามบันทึกความร่วมมือแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา การฝึกอบรมให้กับเรือไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บข้อมูลตรวจอากาศทางทะเล การขยายสถานี Navtex เพื่อให้บริการข่าวสารด้านการเดินเรือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน การฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย การตั้งสำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางน้ำ เพื่อให้การสอบสวนอุบัติเหตุทางน้ำเป็นอิสระ และการตั้งกลุ่มมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าและสินค้าอันตราย เพื่อกำหนดการกำกับดูแลความปลอดภัยระหว่างการขนส่งสินค้าทางเรือ

สำหรับกระบวนการตรวจประเมิน IMSAS เป็นมาตรการเชิงสร้างสรรค์ (Positive Measure) ของ IMO ในการยกระดับการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งเป็นการรวบรวมผลการปฏิบัติจากประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการช่วยเหลือทางวิชาการ ให้ประเทศสมาชิกได้ยกระดับความสามารถในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาได้โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง

ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติจากการประชุมคณะมนตรีสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 32 (COUNCIL 32nd extraordinary session) ที่มีมติรับรองแผนการปรับปรุงกำหนดการตรวจประเมินประเทศสมาชิกภาคบังคับ (IMSAS) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้เลื่อนการตรวจประเมินในปี 2564 ออกไปเป็นปี 2565 และผลการประชุมคณะมนตรี ครั้งที่ 125 (125th Council : C125) ที่มีมติรับรองให้ใช้การตรวจประเมินทางไกล (Remote Audit) เป็นมาตรการชั่วคราวในช่วงสถานการณ์ COVID-19

“IMO เคยตรวจประเมินครั้งล่าสุดเมื่อปี 2550 ซึ่งไทยผ่านเกณฑ์แต่มีต้องปรับปรุง 14 ข้อ ในครั้งนี้จะมีการตรวจประเมิน 29 ข้อ ในเรื่องความปลอดภัย และการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยจะมีการให้คะแนน พร้อมกับให้คำแนะนำกรณีที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย และการดำเนินการติดตั้งระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ VTS (Vessel Traffic System) มั่นใจว่ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยขึ้นอย่างมาก”

กรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ หรือเกิดน้ำมันรั่วไหล จะเห็นว่าการควบคุมแก้ไขสถานการณ์สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และการตรวจสอบแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนที่จะมีการอนุญาต ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ หรือ Human Error ไม่ได้เป็นปัญหาที่มาตรฐานหรือกฎระเบียบที่มี


ด้านนายอธิรัฐกล่าวว่า ในฐานะที่กำกับดูแลกรมเจ้าท่า ได้มีการติดตามความก้าวหน้าและขับเคลื่อนการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับการตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยกรมเจ้าท่าได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงการปฏิบัติ และแก้ไขข้อบกพร่องและข้อสังเกตุที่พบจากการจำลองการตรวจสอบแบบเสมือนจริง เพื่อให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนด สอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในรับการตรวจประเมินจาก IMO โดยมีเป้าหมายผลการตรวจในระดับดีเยี่ยม (Perfect) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐานทางทะเลที่เป็นสากล สร้างความเชื่อมั่นเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ส่งเสริมและพัฒนาให้กิจการพาณิชยนาวีของไทยมีความเข้มแข็ง ขับเคลื่อนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมั่นคงต่อไป

โดย IMO ได้มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 แจ้งประเทศสมาชิกถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจประเมินประเทศต่างๆ ได้ตามแผนที่วางไว้ และปรับวิธีการตรวจประเมินทางไกล (Remote audit) แทนการตรวจประเมินแบบปกติ จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการตรวจประเมินในปี 2565 ออกไปเป็นปี 2566 รวมถึงกำหนดการตรวจประเมินของประเทศไทยที่ถูกเลื่อนจากเดือน ก.พ. 2565 เป็นเดือน ก.พ. 2566 เช่นกัน

และเนื่องจากในปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ IMO จึงขอใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่มีต่ออาณัติของ IMO ในการพัฒนาการขนส่งทางทะเลอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเครื่องมือและประสบการณ์ระหว่างประเทศ พร้อมร่วมแผนการปฏิบัติระหว่างรัฐสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เห็นชอบอนุมัติการลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ IMO เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ IMSAS โดยมอบให้อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือรองอธิบดีกรมเจ้าท่าที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้แทนฝ่ายไทยสำหรับการลงนามดังกล่าว และอนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 16 หน่วยงานเข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศร.ชล. กองทัพเรือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

โดยมีพันธกรณีที่ต้องรับการตรวจประเมินจาก IMO ในอนุสัญญาที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี 6 ฉบับ ประกอบด้วย อนุสัญญา SOLAS อนุสัญญา MARPOL (เฉพาะภาคผนวกที่ 1 และ 2) อนุสัญญา LOADLINE อนุสัญญา TONNAGE อนุสัญญา CORLEG และอนุสัญญา STCW ให้เป็นไปตามประมวลข้อบังคับว่าด้วยการอนุวัติการตรวจตราสารขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO Instruments Implementation Code : III Code) ประกอบด้วย ประเด็นโดยรวม (Common Area) รัฐเจ้าของธง (Flag State Implementation) รัฐชายฝั่ง (Coastal State Implementation) และรัฐเจ้าของท่าเรือ (Port State Implementation)


กำลังโหลดความคิดเห็น