xs
xsm
sm
md
lg

การบินฟื้นเร็ว! กพท.วางยุทธศาสตร์ 5 ปีรับมือ เร่งแผนแม่บทคุม 'โดรน' คาดอีก 20 ปีมีกว่า 8 แสนลำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กพท.วางยุทธศาสตร์ 5 ปี (66-70) ขับเคลื่อนอุตฯ การบินของไทย คาดฟื้นตัวปี 67 เที่ยวบิน-ผู้โดยสารโตก้าวกระโดด เร่งศึกษาโรดแมป ทำแผนแม่บทกำกับความปลอดภัยจัดระเบียบ ออกกฎหมายคุม “โดรน” คาดอีก 20 ปีมีกว่า 8 แสนลำ 
 
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)  หรือ กพท. เปิดเผยในการแถลงข่าวหัวข้อ “ปลุกชีพจรอุตสาหกรรมการบินของไทย รับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินหลังวิกฤตการณ์โควิด-19” เพื่อสรุปผลการดำเนินงานภายใต้นโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรอบปีที่ผ่านมาว่า กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน มีการวางแผนการดำเนินงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้จากการบริโภค การจ้างงาน การค้า และการลงทุน 
 
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในปี 2564 ที่มีจำนวนผู้โดยสารเพียง 20,926,173 คน คิดเป็น 35.92% จากสถิติของปี 2563 (มีจำนวน 58,251,456 คน) และมีจำนวน 12.68% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวน 165,076,011 คน) ส่วนจำนวนเที่ยวบินปี 2564 อยู่ที่ 257,948 เที่ยวบิน คิดเป็น 51.54% จากสถิติของปี 2563 (มีจำนวน 500,435 เที่ยวบิน) และมีจำนวน 24.16% เทียบจากเที่ยวบินของปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวน 1,067,828 เที่ยวบิน)  

โดยเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สถานการณ์ด้านการบินก็กลับมาดีขึ้น ซึ่งในปี 2565 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,815,455 คน และเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 570,360 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารจากทั่วโลกจะฟื้นตัวและกลับมาเท่ากับปี 2562 ในช่วงปี 2567-2568 หรืออีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่สำหรับประเทศไทย หากดูแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินในเดือน ม.ค. 2566 พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับการเปิดประเทศของจีน ทำให้คาดว่าผู้โดยสารและเที่ยวบินของประเทศไทยจะฟื้นตัวกลับไปเท่ากับปี 2562 ในปี 2567 ซึ่งเร็วกว่าทั่วโลก   


นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า กพท.ได้จัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 ภายใต้กรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน” โดยในปี 2566-2567 เป็นการดำเนินการในระยะกลาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการบินภายใต้ยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี ของ CAAT เช่น เป้าหมายของปี 2566 คือ สามารถออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเพิ่มอีก 8 สนามบิน มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของสนามบิน (EMS) สามารถเข้ารับการตรวจประเมินจาก ICAO เพื่อยกระดับมาตรฐานของประเทศ

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาห้วงอากาศ/ระบบการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับเที่ยวบินไม่น้อยกว่า 8.58 แสนเที่ยวบิน ผู้โดยสาร 162 ล้านคน ในปี 2566 เป็นไม่น้อยกว่า 1.14 ล้านเที่ยวบิน และผู้โดยสาร 169 ล้านคน ในปี 2567 ในด้านกายภาพ มีการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 สร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) งบประมาณ 7,980.28 ล้านบาท และเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (งบประมาณ 47,956.94 ล้านบาท) รองรับจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี เร่งรัดทางวิ่งเส้นที่ 3 งบประมาณ 28,050.88 ล้านบาท รองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบิน /ชม.เพิ่มเป็น 94 เที่ยวบิน/ชม.

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีเที่ยวบินเกิน 1 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งพบว่ามีปัญหาเที่ยวบินล่าช้า ทำให้ต้องพิจารณาในเรื่องของประสิทธิภาพ ความสามารถการรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนปี 2562 อีก ดังนั้น ปี 2567 ที่คาดว่าเที่ยวบินและผู้โดยสารจะกลับไปเท่าปี 2562 จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ กทพ.จะต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้มีประสิทธิภาพในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสาร โดย กพท.จะกำหนด 19 ตัวชี้วัดสมรรถนะการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารแค่ไหน วัดในทุกจุดบริการ ว่ามีความล่าช้าแค่ไหน อย่างไร เครื่องบินวนรอ มีการสิ้นเปลืองน้ำมันหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ กพท.มีโครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการจัดการข้อมูลทางอากาศแบบครบวงจร สำหรับประเทศไทย (SWIM Master Plan) งบประมาณ 10 ล้านบาท และโครงการพัฒนาระบบประเมินผลและติดตามตัวชี้วัดสมรรถนะของการดำเนินการทางการบินของประเทศ (Aviation Performance Measurement System) งบประมาณ 12 ล้านบาท


@ศึกษาโรดแมป แผนแม่บทกำกับดูแลความปลอดภัย “โดรน” คาดอีก 20 ปีมีกว่า 8 แสนลำ

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือโดรน เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโดรนได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตหลากหลายด้าน คาดการณ์ในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโดรนเพื่อความบันเทิง โดรนเพื่อกู้ภัย โดรนเพื่อการเกษตร โดรนเพื่อการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งในปี 2562 มีโดรนที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 8,544 ลำ, ปี 2563 จำนวน 21,739 ลำ, ปี 2564 จำนวน 41,256 ลำ, ปี 2565 จำนวน 52,653 ลำ โดยเฉพาะโดรนเพื่อการเกษตร ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเพียง 328 ลำ และเพิ่มขึ้นเป็น 4,836 ลำในปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าในภาพรวมจะมีไม่ต่ำกว่า 8 แสนลำ

กพท.อยู่ระหว่างดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา และแนวทางการบริหารจัดการการใช้งาน เพื่อจัดทำแผนแม่บทกำกับดูแลความปลอดภัยของโดรน โดยจะเป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนระบบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านห้วงอากาศ โครงสร้างพื้นฐานอากาศยาน สถาบันฝึกอบรม การซ่อมบำรุง บุคลากร ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและส่งเสริมให้กิจการโดรนในประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน






กำลังโหลดความคิดเห็น