xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยมั่นใจรายได้โต ออกแผนฟื้นฟูเร็วกว่ากำหนด ปี 66 เช่าเครื่องบิน 6 ลำลุยเพิ่มความถี่ยุโรป-เอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



CEO การบินไทย มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟู เร็วกว่ากำหนดรวมถึงจะกลับเข้าตลาดหุ้นได้เร็วด้วย หลังแนวโน้มธุรกิจ ผลประกอบการฟื้นตัวทิศทางดี ปี 65 รายได้มากกว่า 9 หมื่นล้าน ส่วนปี 66 เพิ่มฝูงบินอย่างน้อย 6 ลำ เพิ่มความถี่เส้นทางยุโรป เอเชีย

วันที่ 9 ก.พ. 2566 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI คนใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 ได้เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารงานว่า ขณะนี้บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟู ทั้งเรื่องการลดต้นทุน ปรับโครงสร้าง เจรจาเจ้าหนี้ รวมถึงผลการดำเนินงานต่างๆ และบริษัทฯ ประเมินว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่ากำหนดเดิมในปลายปี 2567 โดยส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการออกจากแผนฟื้นฟูฯ บริษัทจะต้องมี EBITDA หักค่าเช่า และเงินสดมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่หากออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วจะกลับเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้เร็วขึ้นด้วยจากแผนเดิมที่คาดไว้ในปี 2568

“ขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการแผนฟื้นฟูมาแล้วประมาณ 70% ซึ่งหลังจากนี้จะมีการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม โดยหากกระทรวงการคลังใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนและซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะทำให้มีสัดส่วนถือในการบินไทย 33% ส่วนหน่วยงานรัฐอื่นจะมี 10% โดยเป้าหมายระยะสั้นจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholders และกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ส่วนระยะยาว จะนำการบินไทยกลับไปเป็นสายการบินที่อยู่ในชั้นนำของเอเชีย และของโลก”


นายชายกล่าวว่า แนวโน้มที่จะทำให้การบินไทยสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ได้แก่ ผลประกอบการที่ฟื้นกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเปิดประเทศกลางปี 2565 และล่าสุดประเทศจีนกลับมาเปิดการเดินทาง ทำให้มีความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นมาก โดยผลประกอบการในปี 2565 อยู่ในระดับที่ดีกว่าที่คาดไว้ในแผนฟื้นฟูฯ ที่ยื่นต่อศาล (แผนฟื้นฟูฯ คาดปี 2565 ขาดทุนประมาณ 6,500 ล้านบาท) ส่วนในปี 2566 คาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 40% เทียบจากปี 2565 ที่คาดว่าจะทำรายได้กว่า 90,000 ล้านบาท และยังคาดว่าปี 2566 จะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สูงถึง 20,000 ล้านบาท ส่วนการคาดการณ์อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยที่เกือบ 80% จากปีก่อน ที่มีประมาณ 80-85% ทั้งนี้ มีปัจจัยในเรื่องจำนวนเครื่องบินที่ยังมีจำกัด

สำหรับในปี 2566 จำนวนที่นั่ง (capacity) เพิ่มขึ้น 50% โดยมีเครื่องบินเดิมที่มีใช้งานจำนวน 41 ลำ และนำเครื่องบินแอร์บัส A320 และโบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 8 ลำ กลับมาบินให้บริการ รวมเป็น 49 ลำ และจะมีการรับมอบเครื่องบินจากการเช่าดำเนินการเพิ่ม 6 ลำ คือ แอร์บัส A350 เริ่มทยอยรับมอบในเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาเช่าเพิ่มอีก 3 ลำ คาดว่าจะรับมอบได้ในช่วงสิ้นปี 2566 หรืออย่างช้าต้นปี 2567 จะทำให้มีฝูงบินรวม 58 ลำ

"บริษัทมีแผนจะนำเครื่องบินที่เพิ่มในปี 2566 ไปทำการบินเพิ่มความถี่และจุดบินที่เคยบินในยุโรป จีน และญี่ปุ่น ทั้งนี้ เส้นทางบินในยุโรปยังไม่ได้กลับไปบินเท่ากับปกติ ส่วนจีนจะเพิ่มเที่ยวบินจาก 3 ไฟลต์/สัปดาห์ เป็น 14 ไฟลต์/สัปดาห์ และญี่ปุ่นเพิ่มความถี่ด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเตรียมทำแผนจัดหาเครื่องบินระยะยาว เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจหลังออกจากแผนฟื้นฟูในช่วงปี 2569"

สำหรับเครื่องบินเก่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาขายเครื่องบิน จำนวน 22 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ, โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ ซึ่งทั้ง 2 รุ่นมีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี, แอร์บัส A340 จำนวน 4 ลำ อายุเฉลี่ย 17 ปี และแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ อายุใช้งาน 10-12 ปี


นายชายกล่าวว่า ด้านเงินกู้จำนวน 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็น term loan 12,500 ล้านบาท และ 12,500 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนใช้ในกิจการ ซึ่งจะประเมินจากผลประกอบการอีกครั้ง จึงจะพิจารณาการใช้วงเงินกู้ โดยปัจจุบันบริษัทยังมีเงินสดในมือปัจจุบันสูงถึงกว่า 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีประมาณ 6,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา นายชายกล่าวว่า บริษัทจะนำกลับมาศึกษาความเป็นไปได้หลังอุตสาหกรรมการบินเปลี่ยนไปจากสถานการณ์การระบาดโควิด คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส 3/2566 และจะดึงพันธมิตรร่วมลงทุนด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทเคยดึงแอร์บัสเข้ามาร่วมลงทุนแต่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า หลังเปิดประเทศบริษัทฯ ได้ทำการบินเพิ่มขึ้น โดยปรับเส้นทางยุโรป 6 เส้นทาง บินทุกวัน ซึ่ง Cabin Factor อยู่ในระดับดี ปัจจุบันการบินไทยกลับมาทำการบินในเส้นทางยุโรป (รวมออสเตรเลีย) ประมาณ 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด, เอเชียเหนือกลับมาบิน 30-35% เอเชียใต้ และตะวันตกประมาณ 10%


กำลังโหลดความคิดเห็น