xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเผยปี 65 ขาดทุนลดเหลือ 252 ล้าน จ่อยุบรวมไทยสมายล์ สิ้นปี 66 ลดต้นทุนเพิ่มความคล่องตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทยเผยปี 65 ขาดทุนลดเหลือ 252 ล้านบาท เดินหน้าปรับโครงสร้าง ยุบไทยสมายล์ในสิ้นปี 66 หลังขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้าน เผยเหลือแบรนด์เดียว เพิ่มประสิทธิภาพและปรับใช้ฝูงบินคล่องตัว ตั้งเป้าปี 66 รายได้ 1.3-1.4 แสนล้าน ผู้โดยสาร 12 ล้านคน

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2565 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 97,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 341% จากปี 2564 (มีรายได้ 22,099 ล้านบาท) เนื่องจากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 86,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากปี 2564 จากค่าใช้จ่ายผันแปรในส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีการปรับราคาขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และต้นทุนการบริการในกิจกรรมขนส่งด้วยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงาน 11,207 ล้านบาท ดีกว่าปี 2564 ที่ขาดทุน 15,906 ล้านบาท และมี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 19,689 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัทฯ ต้องมี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานถึงผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการหรือในช่วงเดือน ก.พ. 65-ม.ค. 2566

อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานปี 2565 การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 105,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 342% จากปี 2564 (มีรายได้ 23,747 ล้านบาท) ผลขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท ดีกว่าปี 2564 ที่ขาดทุน 55,113 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้น 100% ซึ่งในปี 65 มีผลขาดทุน 4,248 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมถึง 20,000 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4/65 บริษัทฯ มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 36,902 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 367% มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 28,020 ล้านบาท เริ่มมีกำไรจากการดำเนินงาน 8,882 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อนหน้าซึ่งขาดทุน 2,579 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานติดต่อกัน 2 ไตรมาสตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เป็นต้นมา จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว การปรับโครงสร้างทางธุรกิจและต้นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน 10,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 630% ทำให้มีกำไรสุทธิ 11,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 178%

และกระแสเงินสดสิ้นปี 65 อยู่ที่ 34,000 ล้านบาท ถือเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี จำนวนผู้โดยสารขึ้นระดับ 2 ล้านคน อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่ 82.6% และเส้นทางยุโรป-ออสเตรเลียมี Cabin Factor เต็ม 100% ทำให้ราคาตั๋วสูงขึ้นตามดีมานด์ แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้น และผู้โดยสารทั้งการบินไทยและไทยสมายล์มีถึง 9 ล้านคน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของระดับก่อนโควิด


@วางไทม์ไลน์ศึกษา 2 เดือนปรับโครงสร้าง คาดสิ้นปี 66 ยุบรวมไทยสมายล์

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจการบินในกลุ่มการบินไทย โดยการยุติบริษัทไทยสมายล์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ อยู่แล้ว ซึ่งระบุชัดว่าในที่สุดแล้วจะเหลือเพียงการบินไทยแบรนด์เดียวเท่านั้น ไม่มีไทยสมายล์ เป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจการบิน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การใช้เครื่องบินที่จะคล่องตัวมากขึ้น

เรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแก้ไขแผนธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารที่เป็นทีมเดียว ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 เดือนคาดเสร็จช่วงเดือน พ.ค. 66 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะที่กำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงแผนธุรกิจ ก่อนเสนอกรรมการการบินพลเรือน หรือ กบร. คาดว่าจะดำเนินการปรับโครงสร้างได้เรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้

“เหลือการบินไทยแบรนด์เดียว การบริหารจัดการเครื่องบินคล่องตัว และทำให้การใช้เครื่องบิน แอร์บัส 320 ของไทยสมายล์คุ้มค่ามากขึ้น จากตอนนี้อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 9 ชม./วัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยสมายล์ขาดทุน ส่วนการบินไทยใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12 ชม./วัน นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการทำการบินด้วยไทยสมายล์ในบางเส้นทางก็จะได้รับการแก้ไขด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลจะไม่กระทบต่อแผนการปรับปรุงธุรกิจของการบินไทย และยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่กระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการของสายการบินไทยสมายล์อยู่แล้วด้วย” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างรวมไทยสมายล์เหลือแบรนด์การบินไทย มีขั้นตอนในการดำเนินการ จะต้องทำการศึกษาและทำแผนรายงานเจ้าหนี้ เมื่อแผนการปรับปรุงธุรกิจดังกล่าวได้รับความเห็นชอบแล้วการบริหารไทยสมายล์จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมเมื่อครั้งเริ่มต้นมีไทยสมายล์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการบินไทยไม่ได้มีการแยกการบริหาร ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารทรัพย์สินและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินมากขึ้นกว่าเดิมจากปัจจุบันที่ไทยสมายล์บินอยู่ 9 ชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มเป็น 12-13 ชั่วโมงต่อวันได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 30% และจะส่งผลให้การดำเนินงานในปี 66 กลับมาเป็นบวกไม่ขาดทุน

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย กล่าวว่า เมื่อเหลือแบรด์เดียวแล้วการบินไทยจะสามารถบริหารจัดการเครื่องบินได้ง่าย โดยนำเครื่องบินลำตัวแคบ A320 ของไทยสมายล์ไปให้บริการบินในบางเส้นทางที่เหมาะสมได้ เช่น อินเดีย จีน สิงคโปร์ เป็นต้น ที่สามารถทำการบินในช่วงกลางคืนได้


@คาดปี 66 เป้ารายได้ 1.3-1.4 แสนล้านบาท

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย ยังได้คาดการณ์รายได้รวมในปี 66 คาดว่าจะมีประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท เติบโต 30% จากปี 65 ที่มีรายได้รวม 1.05 แสนล้านบาท ที่จะมาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวและจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้กลางปี 66 ทำให้ดีมานด์การเดินทางสูงขึ้น และคาดว่า EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินจะสูงขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,7241 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 66 การบินไทยคาดมีจำนวนผู้โดยสาร 12 ล้านคน โดยกลับมาทำการบินได้ 70-80% ของปี 62 ที่มีฝูงบิน 81 ลำ และมียอดผู้โดยสาร 19 ล้านคน ขณะที่ capacity ในปีนี้จะเพิ่มขึ้น จากการขยายฝูงบินเป็น 71 ลำภายในปลายปี 66 จากปีก่อนอยู่ที่ 64 ลำ (รวมไทยสมายล์ 20 ลำ) โดยจะเน้นทำการบินในเส้นทางที่ทำกำไรเป็นหลัก ได้แก่ ทุกเมืองหลักในเส้นทางบินในยุโรป ขณะนี้ปรับมาบิน 1 เที่ยวบิน/วันใน 6 เมือง ส่วนลอนดอนและแฟรงก์เฟิร์ต ทำการบิน 2 เที่ยวบิน/วัน รวมถึงออสเตรเลีย

นอกจากนั้นจะจัดให้บินมากขึ้นในญี่ปุ่น เกาหลี และจีน รวมทั้งเพิ่มการบินไปอินเดียที่มีดีมานด์มาก ซึ่งทำการบินเพิ่มมาเป็น 60 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เข้าใกล้ปี 62 ทำการบิน 65 เที่ยวบิน/สัปดาห์


ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 64 ลำ และในตารางการบินฤดูร้อน ปี 2566 ให้บริการเที่ยวบินสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย เช่น โตเกียว (นาริตะ และฮาเนดะ) โอซากา โซล ไทเป ฮ่องกง สิงคโปร์ กัลกัตตา มุมไบ เป็นต้น และกลับมาให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมในเส้นทางประเทศจีนในช่วงต้นปี ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู กว่างโจว เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ นำไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น