ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถยนต์ ม.ค. 66 โต 4.02% หลังสถานการณ์ชิปดีขึ้นจนทำให้การส่งออกเติบโต แต่ยอดขายในประเทศลดลง 5.58% จากขาดชิปทำให้ไม่พอต่อการส่งมอบลูกค้า ส่งออกเทียบกับ ม.ค. 65 ยังโตแต่แผ่วลงจาก ธ.ค. 65 เกาะติดสถานการณ์โลกใกล้ชิด ด้านรถยนต์นั่งไฟฟ้าป้ายแดงแรงไม่หยุด ม.ค. 66 โตทะลุ 1,022%
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์เดือน ม.ค. 66 มีทั้งสิ้น 157,844 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.02% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 91,532 คัน เพิ่มขึ้น 7.43% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 66,312 คัน ลดลง 0.35% โดยมียอดขายภายในประเทศ 65,579 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.58% และลดลงจาก ธ.ค. 65 คิดเป็น 20.80% เนื่องจากการขาดชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ในรถยนต์บางรุ่น จึงผลิตรถยนต์บางรุ่นได้น้อยไม่พอส่งมอบให้ลูกค้า ขณะที่การส่งออก 86,786 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.28% แต่ลดลงจาก ธ.ค. 65 คิดเป็น 22.24%
“เราเริ่มกลับมาผลิตรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นเพราะเริ่มได้รับชิปดีต่อเนื่องมานับตั้งแต่ส.ค. 65 แต่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะได้รับชิปแบบสมบูรณ์ได้เมื่อไหร่ จึงยากที่จะให้คำตอบถึงการส่งมอบรถแก่ลูกค้าถึงวันที่แน่นอนได้ เช่นเดียวกับส่งออกที่เพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 65 เพราะได้รับชิปเพิ่มแต่เทียบกับ ธ.ค. 65 ลดลงเพราะส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องของพื้นที่เรือบรรทุกรถยนต์ (Ro-Ro) ขาดแคลนตั้งแต่ พ.ย. 65 ต่อเนื่องอยู่ ดังนั้นยังคงต้องติดตามโดยเฉพาะชิป” นายสุรพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะถดถอยแต่จากการที่ได้รับชิปเพิ่มขึ้น จีนเปิดประเทศ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวส.อ.ท.เองก็ยังคงมั่นใจว่าการผลิตยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ปี 2566 ที่ยอดการผลิตรถยนต์รวมจะอยู่ที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.53% จากปีก่อน แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน และยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คันแต่ทั้งนี้ยังคงกังวลปัญหาเรื่องชิป และด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด
นายสุรพงษ์กล่าวถึงต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่สูงขึ้นทั้งราคาอุปกรณ์ ค่าแรง รวมถึงค่าพลังงานที่สูง ว่า ผู้ผลิตหลายรายได้ทยอยปรับขึ้นราคาจำหน่ายรถยนต์บางรุ่นไปแล้ว และปีนี้ก็อาจจะมีการทยอยปรับเพิ่มแต่ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการตลาดของแต่ละค่ายและทิศทางพลังงานที่เริ่มมีแนวโน้มจะลดลงอาจทำให้การปรับไม่มากนักหรือไม่ปรับแต่ใช้วิธีลดของแถมลง เป็นต้น
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ที่เป็นรถยนต์นั่งในประเทศเดือน ม.ค. 66 อยู่ที่ 2,929 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 261 คัน หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1,022.2% โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีนเข้ามาจำหน่ายด้วย ดังนั้น ปีนี้ที่ส่วนตัวได้ตั้งเป้าหมายไว้ราว 35,000-40,000 คันมีโอกาสจะเกินนี้ได้เช่นกัน
ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทแบบแบตเตอรี่ BEV เดือนมกราคม 2566 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 4,707 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 649.52% ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) 7,687 คัน เพิ่มขึ้น 76.51% รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 961 คัน เพิ่มขึ้น 33.10%
ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 36,775 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 206.33% ประเภท HEV มีจำนวน 267,391 คัน เพิ่มขึ้น 33.11% ประเภท PHEV 43,360 คัน เพิ่มขึ้น 36.09%