xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานแจงโรงไฟฟ้าชุมชนพิจารณารอบคอบ ยันเงินประกันสัญญา 500 ล้านบาทไม่จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานแจงโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่เปิดให้วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% เป็นสัดส่วนนำร่องเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่หากอนาคตพร้อมก็เข้าถือหุ้นเพิ่มได้โดยไม่มีข้อจำกัด การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ ส่วนกรณีต้องมีเงินประกันสัญญา 500 ล้านบาทนั้นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ผู้ยื่นต้องวางหลักประกัน 1.5-3 ล้านบาทต่อโครงการเท่านั้น

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน
ชี้แจงกรณีที่มีประเด็นการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นโครงการซึ่งเป็นระยะนำร่องที่ร่วมกันหลายภาคส่วน โดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ส่วนวิสาหกิจชุมชนจะเป็นผู้รวบรวมเชื้อเพลิง จากเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงานส่งให้กับโรงไฟฟ้าในรูปแบบ Contract Farming ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นของวิสาหกิจชุมชนร้อยละ 10 นั้นเป็นสัดส่วนในโครงการนำร่อง เนื่องจากเป็นการดำเนินการโรงไฟฟ้าที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเงินลงทุนค่อนข้างสูง หากให้วิสาหกิจชุมชนเป็นเจ้าของเองจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงต้องค่อยเป็นค่อยไปโดยในระยะเริ่มแรกให้วิสาหกิจถือหุ้นในสัดส่วนนี้ไปก่อน แต่หากชุมชนมีความพร้อมในอนาคตสามารถถือหุ้นเพิ่มเติมตามความตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมิได้เป็นข้อจำกัดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ภายใต้รูปแบบการบริหารของโรงไฟฟ้าชุมชน วิสาหกิจฯ จะมีรายได้แน่นอนสม่ำทุกวัน และเกษตรกรมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงพืชพลังงานให้โรงไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 80 ของปริมาณเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าใช้ทั้งหมด อีกทั้งยังจะมีรายได้หรือผลประโยชน์เพิ่มเติมอื่นๆ ตามที่ผู้เสนอโครงการหรือภาคเอกชนจะต้องทำความตกลงกับชุมชน เพื่อสามารถนำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภค ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการศึกษา เป็นต้น

ในภาพรวมโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 28,000 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงระยะยาว 20 ปี มูลค่าประมาณ 33,800 ล้านบาท และเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพกว่า 23,600 อัตรา ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

ส่วนเรื่องที่มีการระบุว่าต้องมีเงินประกันสัญญา 500 ล้านบาทนั้นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากตามระเบียบของโครงการระบุว่าผู้ยื่นขายไฟฟ้าต้องวางหลักประกันจำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขาย ดังนั้นผู้ยื่นจะต้องวางหลักประกัน 1.5-3 ล้านบาทต่อโครงการเท่านั้น

“กระทรวงพลังงานขอให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากโครงการนำร่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ พิจารณาประเด็นให้ครบถ้วนรอบด้านมากที่สุด เพราะเกี่ยวพันกับรายได้และผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรในระยะยาว ทั้งนี้ เหตุล่าช้าในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบและพิจารณาอย่างครบถ้วนแล้ว โดยพบว่าไม่ปรากฏพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญาระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป” โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น