“ทิพานัน” กางข้อมูลโรงไฟฟ้าชุมชนฯ โต้ “สุทิน” ยัน หุ้นวิสาหกิจชุมชนเพิ่มได้ถึง 40% หนุนโครงการฉลุย หวังบูมเศรษฐกิจฐานราก และความมั่นคงพลังงาน
วันนี้ (16 ก.พ.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้นดำเนินการขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนในชุมชน ประชาชนทุกคนได้มีพลังงานใช้ เกิดประโยชน์แก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า มีการใช้วัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน และชุมชนได้ร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืนด้วย
ส่วนในกรณีที่กล่าวว่า มีเรื่องที่ร้องเรียนต่างๆ ในเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ก็ได้สิ้นสุดไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ทำให้ขณะนี้กำลังอยู่ขึ้นตอนดำเนินการลงนามในสัญญาเพื่อเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ต่อไปได้
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในส่วนประเด็นที่ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถถือหุ้นในสัดส่วน ร้อยละ 10 ซึ่งการกำหนดให้มีการถือหุ้นร้อยละ 10 ในเบื้องต้น หากโรงไฟฟ้าชุมชนมีผลประกอบการดีตั้งต้นโรงไฟฟ้าได้ชุมชนสามารถเพิ่มหุ้นได้ถึงร้อยละ 40 เพราะในขั้นตอนแรกของการตั้งโรงไฟฟ้าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน เช่น ค่าก่อสร้าง ค่าวางระบบ-เทคนิค ยากในการสร้างรายได้คืนทุน หากให้ชุมชนเป็นเจ้าของเต็มสัดส่วนร้อยละ 100 ตามที่นายสุทินเสนอจะเป็นการสร้างภาระให้ต้องใช้เงินจำนวนมาก ยิ่งกลับทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สำเร็จเพราะชุมชนอาจขาดทั้งเงินทุน ความเชี่ยวชาญ หรือข้อมูลทางเทคนิคในการผลิตไฟฟ้า ทางโครงการจึงริเริ่มโครงการแบบค่อยเป็นค่อยไป รัฐบาลต้องการให้โครงการประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ ต้องการให้ชุมชนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการพัฒนา มีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้อย่างยั่งยืน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ ในแผนการจัดหาเชื้อเพลิงนั้น กำหนดให้ชุมชนมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงที่เป็นพืชพลังงานใน “ราคาประกัน” ตลอดอายุโรงไฟฟ้า คือ 20 ปี เพราะมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ประกันราคา มีรายได้แน่นอน และชุมชนยังมีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต้นทุนใดๆ ทั้งสิ้น โดยได้รับเงินเข้ากองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นๆ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถร่วมทุนมีเพดานการถือหุ้นสูงสุดได้ถึงร้อยละ 40 ซึ่งการกำหนดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเริ่มต้นถือหุ้นได้ในร้อยละ 10 นั้นเป็นเพราะในขั้นต้นเป็นโครงการนำร่องที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) กำหนดเป้าหมายรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ ซึ่งในอนาคตอาจมีกาขยายเพิ่มเติมได้ ซึ่งหากฝ่ายค้านอภิปรายด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนพร้อมข้อเสนอแนะจากความเป็นจริง ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
“และเหนือสิ่งอื่นใด ผลประโยชน์ต้องเหมาะสมกับทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องเสียค่าไฟฟ้า รัฐบาลจึงเน้นเรื่องการเปิดกว้างพร้อมรับฟังและนำไปพัฒนาให้ดีขึ้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว