ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี 65 มีมูลค่า 7,987.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 29.54% หากรวมทองคำมีมูลค่า 15,057.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 49.82% ได้แรงหนุนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จับตาปี 66 เศรษฐกิจสหรัฐฯ อียู เข้าสู่ภาวะถดถอย ต้องเร่งพลิกเกม เน้นขายดีไซน์ รักษ์โลก และเร่งเจาะตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และอาเซียนเพิ่ม
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ธ.ค. 2565 มีมูลค่า 521.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.41% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 568.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 31.97% และยอดส่งออกรวมทั้งปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.) หากไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,987.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.54% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 15,057.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.82%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งปี 2565 เติบโตได้ดี มาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญปรับเปลี่ยนนโยบายกลับคืนสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ ทำให้การผลิตของโลกและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และช่วงกลางปีมีการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และยังได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2566 ยังคงต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ ปัญหาราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่หลายประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเริ่มชัดเจนในปี 2566 ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ตลาดทางฝั่งเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอาเซียน จะยังเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และอียู จะต้องปรับตัวโดยมุ่งเน้นเจาะตลาดด้วยดีไซน์ที่ตรงใจและงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งใช้จุดขายการรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และต้องมองหาโอกาสจากตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน จะเป็นอีกช่องทางให้ธุรกิจไปต่อได้ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้