ทางหลวงชนบทพาผู้แทนธนาคารโลก, สบน. และสภาพัฒน์ฯ ลงพื้นที่พบชาวสงขลา หนุนสร้าง "สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา" วงเงิน 4.8 พันล้าน คาดเริ่มปลายปี 2566 ช่วยร่นระยะการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิต
นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่ กรมทางหลวงชนบท (ด้านสำรวจและออกแบบ) นายชัยยุทธ เขียวจันทร์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 12 นำผู้แทนธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่ Site visit “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา” ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ณ ฝั่งเกาะใหญ่ จังหวัดสงขลา
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลามีจุดเริ่มต้นแนวสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา โดยเริ่มต้นจากแยกถนนทางหลวงชนบท พท.4004 ประมาณ กม.3+300 บริเวณหมู่ 1 บ้านแหลมจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง แนวเส้นทางโครงการไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือข้ามทะเลสาบสงขลา มีจุดสิ้นสุดโครงการที่หมู่ 2 บ้านแหลมยาง ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา รวมระยะทาง 7 กิโลเมตร
ลักษณะโครงการเป็นงานก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาพร้อมถนนเชื่อมต่อกับถนนโดยรอบทะเลสาบสงขลามีขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจรช่องละ 4 เมตร ไหล่ทางด้านละ 2.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเครื่องหมายพื้นทาง (เส้นแบ่งทิศทางจราจรสีเหลือง) รูปแบบสะพานประกอบด้วยสะพานคานขึงและสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ ความกว้างช่วงสะพานสูงสุด 140 เมตร และความสูงช่องลอดแนวดิ่งเหนือระดับน้ำทะเลสูงเท่ากับ 18 เมตร ความยาวโครงสร้างสะพานรวม 6.600 กิโลเมตร มีวงเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณแบ่งเป็น 70:30
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถพัฒนาโครงข่ายถนนให้สมบูรณ์มากขึ้น สามารถลดระยะในการเดินทาง ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งจากการขนส่ง การท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มช่องทางการค้าและการลงทุน ซึ่งจะนำสู่การเพิ่มจำนวนการจ้างงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพและส่งความช่วยเหลือเมื่อมีภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปลายปี พ.ศ. 2566 และแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2569
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างและตัวแทนชาวประมงได้ให้ความเห็นว่า การก่อสร้างสะพานเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอยมานานกว่า 30 ปี และคาดว่าเมื่อสะพานดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การเดินทางระหว่างจังหวัดโดยรอบจะได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงมองเห็นโอกาสในอนาคตหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการขยายด้านการขนส่ง การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งจะส่งผลดีตามมาอย่างแน่นอน