xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” แจ้งข่าวดี อินโดนีเซียรับจด GI ข้าวไทยอีก 2 รายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” แจ้งข่าวดี อินโดนีเซียรับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวไทย 2 รายการ “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” และ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ตอกย้ำข้าวไทยมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากขึ้น

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ประกาศรับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวไทยเพิ่มอีก 2 รายการ ได้แก่ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อจากสินค้าผ้าไหมยกดอกลำพูนที่ได้รับจด GI ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2559 ซึ่งจะช่วยตอกย้ำคุณภาพข้าวไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะช่วยขยายตลาดการส่งออกข้าวชนิดดังกล่าวของไทยเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียได้ดีขึ้น และช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรท้องถิ่นที่เพาะปลูกข้าวทั้ง 2 ชนิดได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าส่งเสริมการจดทะเบียนสินค้า GI ในต่างประเทศ โดยถือเป็นนโยบายสำคัญที่มุ่งมั่นดำเนินการ เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้า GI ไทยได้รับความคุ้มครองในตลาดส่งออกสำคัญ และช่วยผลักดันมูลค่าการตลาดให้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผลักดันสินค้า GI ไทยได้รับการจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว รวม 8 รายการ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน

“กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันการจดทะเบียนสินค้า GI ซึ่งเป็น Soft Power ของไทยที่มีศักยภาพ ให้ได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า GI เกษตรและอาหาร เช่น ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ในจีน กาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น” นายสินิตย์กล่าว

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงมีลักษณะเด่น คือ เมล็ดข้าวเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้ม ข้าวสารมีสีขาวปนแดงหรือสีชมพู ในแต่ละปีมีปริมาณการผลิตมากกว่า 8,000 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 104 ล้านบาท ส่วนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มีลักษณะเด่นคือ เมล็ดข้าวยาวเรียวและไม่มีหางข้าว เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม ปลูกในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ในแต่ละปีมีปริมาณการผลิตกว่า 24,500 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 266 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น