โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เชื่อมั่น สินค้าท้องถิ่นไทยมีศักยภาพ ได้รับการยอมรับในตลาดโลก เร่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นและยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
วันนี้ (8 ม.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ยอดขาย และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ของไทยในปี 2565 คาดว่า จะถึงยอด 48,000 ล้านบาท โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการมุ่งเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ชุมชน สนับสนุนสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นและยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ตลอดจนใช้ประโยชน์และต่อยอดจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยอดขายสินค้า GI รวมถึงการส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 48,000 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 39,000 ล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าการขึ้นทะเบียนสินค้าที่ GI ใหม่ 22 รายการในปีนี้ และทั้งหมดได้รับการจดทะเบียนแล้ว อาทิ ปลาเม็งจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขมิ้นชันจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มะม่วงเบาจากจังหวัดสงขลา มะขามหวานเพชรบูรณ์ เผือกบ้านหมอจากจังหวัดสระบุรี มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ครกหินแกรนิตจากจังหวัดตาก ผ้าไหมปักธงชัยจากจังหวัดนครราชสีมา ส้มโอปราจีนจากจังหวัดปราจีนบุรี และพุทรานมบ้านโพนจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้วกว่า 195 รายการ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ (https://www.ipthailand.go.th/th/gi-011.html)
นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีสินค้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ อาทิ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในสหภาพยุโรป กาแฟดอยช้าง ในสหภาพยุโรป กาแฟดอยตุง ในสหภาพยุโรปและกัมพูชา ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในสหภาพยุโรป เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ในเวียดนาม ผ้าไหมยกดอกลําพูน ในอินเดียและอินโดนีเซีย มะขามหวานเพชรบูรณ์ ในเวียดนาม และลําไยอบแห้งเนื้อสีทองลําพูน ในเวียดนาม เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในเอกลักษณ์ และคุณภาพสินค้า GI ไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็น Soft Power ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างงาน และรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการในท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าสินค้าไทยที่มีอัตลักษณ์ และหลากหลาย สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่า พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าส่งเสริมโอกาสทางการค้าของสินค้าไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางการตลาด และนำรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นายอนุชา กล่าว