กรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้แจงข่าวชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าขายที่เยาวราช ยันทำไม่ได้ เหตุเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการทำต้องได้รับอนุญาตก่อน ส่วนการจดทะเบียนพาณิชย์ก็ไม่สามารถจดได้ ย้ำจะร่วมมือกับกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบ หากพบกระทำจริง มีความผิดทั้งกฎหมายแรงงาน และกฎหมายต่างด้าว เตือนคนไทยทำตัวเป็นนอมินี มีโทษหนัก คุก 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวว่าผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารย่านเยาวราชมีข้อกังวลประเด็นชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านค้าขาย และเม็ดเงินจะกระจายสู่ท้องถิ่นน้อยลง และผู้ประกอบการไทยจะประสบปัญหาในระยะยาว ผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ DBD Public Relations ว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้คนต่างด้าวที่จะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน จึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชี 3 (19) ท้ายพระราชบัญญัติ
ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี โดยขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคลต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่ามีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินี เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนประกอบธุรกิจควบคุมตามบัญชีท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่
“การตรวจสอบว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใด กระทำความผิดตามกฎหมาย หรือการตรวจสอบว่าคนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เข้าข่ายความผิดนอมินีนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจน หรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือมีการจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพรางในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ โดยปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปี ซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบอยู่แล้ว” นายทศพลกล่าว
สำหรับกรณีที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบธุรกิจ (จดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล หรือ อบต.ที่ร้านค้าตั้งอยู่) เป็นการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้
นายทศพลกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าวก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย และจากนี้ กรมฯ จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ
“ขอเตือนคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทย เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน” นายทศพลกล่าว