xs
xsm
sm
md
lg

คต.เปิดแผนทำงานปี 66 ลุยขายข้าว-มัน ดันการค้าชายแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กางแผนทำงานปี 66 เดินหน้าขาย “ข้าว-มันสำปะหลัง” คุมเข้มมาตรฐานส่งออก-นำเข้า เร่งรัดเปิดด่าน จัดมหกรรมการค้า เพิ่มยอดการค้าชายแดน นำดิจิทัลใช้ในงานบริการ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย และเร่งรัดผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ FTA-RCEP

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยถึงแผนการทำงานในปี 2566 ว่า ภารกิจสำคัญที่กรมฯ จะเร่งขับเคลื่อน ก็คือ การผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญ โดยข้าว จะเร่งผลักดันและจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทยตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ใช้นโยบายรัฐหนุน เอกชนนำ เพื่อรักษาและขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าเดิมและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ และมีแผนจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ (Thailand Rice Convention 2023) ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวโลกเดินทางมาประชุมสัมมนาวิชาการ และเจรจาธุรกิจ อีกทั้งยังมีแผนการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทย โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน BIOFACH ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี งาน GULFFOOD 2023 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOODEX 2023 ณ ประเทศญี่ปุ่น งาน China - ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง มีแผนขยายตลาดเดิม คือ จีน ตลาดเก่า เน้นยุโรป และตลาดใหม่ เน้นตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย ผ่านกิจกรรมในรูปแบบ Online และ Onsite รวมถึงการเชิญกลุ่มผู้นำเข้าเข้าร่วมงานมันสำปะหลังโลก ปี 2566 (World Tapioca Conference 2023) ณ จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนก.พ. 2566 และยังมีแผนเร่งผลักดันการส่งออกพลาสติกชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังไปยังต่างประเทศมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งมีสินค้านำร่อง คือ เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (Thermoplastic starch: TPS) และผลักดันการส่งออกแป้งฟลาวมันสำปะหลังปลอดกลูเตนไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังจะให้ความสำคัญต่อการคุมเข้มมาตรฐานสินค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ไทยส่งออก-นำเข้า เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้า โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าส่งออกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลทั้ง 9 ชนิด (ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ แป้งมันสำปะหลัง ปุยนุ่น ปลาป่น และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) และกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า ซึ่งสินค้าสำคัญที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่นำเข้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และไทย-สปป.ลาว

นายรณรงค์กล่าวว่า ในด้านการค้าชายแดน จะผลักดันให้มีการเปิดด่านการค้าไทย-ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงต้นปี 2566 จะจัดคณะเจรจาผลักดันเปิดด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ยังไม่เปิดทำการ และอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดนให้เกิดการขยายตัวทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีแผนดำเนินงานโครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยการจัดมหกรรมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ช่วง ม.ค.-มี.ค. 2566 มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านลาว (จังหวัดเชียงราย หรือตาก หรือหนองคาย หรือมุกดาหาร หรือนครพนม) และด้านเมียนมา/ด้านกัมพูชา (จังหวัดกาญจนบุรี หรือสระแก้ว หรือตราด)

ขณะเดียวกัน จะนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในงานบริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ การพัฒนาระบบการให้บริการการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกสินค้ามาตรฐาน การอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัท Survey) และผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (Surveyor) รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถชำระเงินและพิมพ์ใบทะเบียนและใบอนุญาตในรูปแบบที่ผู้ขอรับบริการไม่ต้องเดินทางมาติดต่อเจ้าหน้าที่ และจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า (มส.24) และการรายงานการส่งออก (มส.25) กับกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ

นายรณรงค์กล่าวว่า กรมฯ ยังจะปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัยและคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น โดยจะทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เช่น พ.ร.บ.การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.TCWMD) พ.ร.บ.ว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. AD-CVD) เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเร่งรัดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงต่างๆ เช่น FTA และ RCEP เป็นต้น เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า ลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น