เอกชนลั่นผิดหวัง "กกพ." ขยับค่าไฟภาคธุรกิจดันต้นทุนอ่วม! “กกร.” เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอทบทวนและวางแผนร่วมกัน ลั่นขอชะลอคืนหนี้กฟผ.อย่างน้อยจะขึ้นแค่ 5.30 บาทต่อหน่วยไม่ใช่ 5.69 บาทต่อหน่วย ขณะที่สภาองค์การนายจ้างมองสุดท้ายประชาชนแบกรับผ่านราคาสินค้า ห่วงเงินเฟ้อขยับสูง
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค่อนข้างผิดหวังอย่างแรงกับมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ ม.ค.-เม.ย. 66 ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไปอยู่เฉลี่ยที่ 5.69 บาทต่อหน่วย เพราะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ได้ส่งสัญญาณไปแล้วว่าหากค่าไฟฟ้าขึ้นสูงจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งโรงแรม อุตสาหกรรม เกษตรกร และอื่นๆ เพิ่มขึ้น ก็ต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภค สินค้าบริการจะขยับขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อ กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น กกร.จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติ กกพ. และให้ตั้งคณะทำงานทั้งภาครัฐ-เอกชนมาหารือร่วมกันด่วนก่อนที่จะเริ่มเก็บค่าไฟฟ้าใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 66
“เราขอให้เอฟทีงวดใหม่นำเรื่องการคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปก่อน จากที่จะคืน 33 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของส่วนอื่นๆ ยกเว้นบ้านก็จะลดลงจากอัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย เหลือราว 5.30 บาท/หน่วย และควรวางแผนร่วมกันเพราะเรื่องค่าไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยในส่วนหนี้ของ กฟผ.ภาครัฐก็น่าจะมองถึงการใช้งบฯ ส่วนอื่น หรือให้ กฟผ.สามารถกู้เงินเพิ่มเสริมสภาพคล่องไปก่อน ซึ่งค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมหากนับเพิ่มจากงวดต้นปี 64 มาถึงงวดใหม่ต้นปี 65 หากเก็บตามที่ กกพ.กำหนดก็จะขึ้นถึง 90% จากราว 3 บาท/หน่วยเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย กระทบหนักมาก และประเด็นนี้ส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาดการบริหารก๊าซในอ่าวไทย ก็ไม่มีผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหามาถึงขั้นนี้ก็อยากให้ตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชนมาพูดคุยวางแผนร่วมกัน” นายอิศเรศกล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การตรึงค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าการปรับขึ้นค่าไฟภาคธุรกิจไปสู่ระดับ 5.69 บาทต่อหน่วยหรือขึ้นราว 97 สตางค์ต่อหน่วยนั้นย่อมส่งผลต่อต้นทุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาต้นทุนต่างๆ ได้สูงขึ้นทั้งค่าแรงขั้นต่ำ วัตถุดิบ ค่าพลังงาน เมื่อค่าไฟขยับต่อจึงซ้ำเติมและที่สุดภาระเหล่านี้จะถูกผลักไปยังราคาสินค้าปรับขึ้นในปี 2566 ส่วนจะปรับขึ้นเท่าใดก็อยู่ที่ประเภทกิจการเป็นสำคัญ และสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนไปยังค่าครองชีพประชาชนและกลายเป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
“ปี 2566 เศรษฐกิจโลกที่อาจจะถดถอยย่อมกระทบไทยอยู่แล้วแต่ไทยอาศัยท่องเที่ยวมีทิศทางฟื้นตัวจึงถือว่าโชคดีกว่าหลายประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังน่าห่วงตรงปัญหาเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นเพราะต้นทุนผลิตต่างๆ ขยับหมดแม้กระทั่งทิศทางอัตราดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนไปยังหนี้ภาคครัวเรือนที่ไทยอยู่ในระดับสูงมาก เหล่านี้ถือเป็นสัญญาณอัตรายต่อเศรษฐกิจระยะต่อไป” นายธนิตกล่าว