กกพ.ประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 โดยได้นำมติ กพช.ให้สิทธิประชาชนใช้ก๊าซอ่าวไทยก่อน ส่งผลให้ กกพ.ต้องประกาศค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม คือ ประเภทบ้านอยู่อาศัย และประเภทอื่นๆ และทำให้เอฟทีผู้ใช้ไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัยคงเดิม 93.43 สตางค์/หน่วย หรือเฉลี่ยรวมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นใช้ก๊าซส่วนเหลือ เอฟทีเป็น 190.44 สตางค์/หน่วย หรือเฉลี่ยรวมที่ 5.69 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 (ครั้งที่ 163) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ม.ค.-เม.ย. 66 โดย “ให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้ กกพ.ไปคำนวณอัตราค่าเอฟที (Ft) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ตั้งแต่ใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566” และ “ให้ ปตท.ร่วมกับ
กฟผ.บริหารจัดการผลกระทบราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท.คิดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้ประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรปรับอัตราค่า Ft ตั้งแต่เดือนที่ กพช.มีมติเป็นต้นไป และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บดังกล่าวไปทยอยเรียกเก็บคืนในการคำนวณค่า Ft รอบถัดไป” และได้รับแจ้งมติดังกล่าวมายังสำนักงาน กกพ.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 แล้วนั้น กกพ.จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแนวทางการคำนวณค่า Ft ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ที่ได้รับฟังความเห็นไปแล้วให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว โดยมีการปรับปรุง ดังนี้
1. ให้ ปตท.ทบทวนการประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติใหม่อีกครั้งให้สอดคล้องกับมติ กพช. และแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน เช่น (1) เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทดแทนการนำเข้า LNG ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกและความสามารถในการขนส่งน้ำมันดีเซลให้กับโรงไฟฟ้า (2) เพิ่มปริมาณก๊าซในอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้าโดยลดปริมาณก๊าซอ่าวไทยเข้าโรงแยกก๊าซ แล้วส่งมาผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมา (3) ปรับปรุงสมมติฐานราคานำเข้า LNG Spot อ้างอิงตามแนวโน้มที่ดีขึ้น และ (4) เดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 ที่ปลดแล้วตามความจำเป็น เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ประมาณการราคา Pool Gas ลดลงจาก 552 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 493 บาทต่อล้านบีทียู ต่อมาจึงคำนวณโดยแบ่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหลังโรงแยกฯ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าให้บ้านอยู่อาศัยก่อน ทำให้บ้านอยู่อาศัยสามารถใช้ก๊าซในราคา 238 บาทต่อล้านบีทียู และจัดสรรก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยส่วนที่เหลือรวมกับก๊าซจากสหภาพเมียนมาและ LNG สำหรับผู้ใช้ก๊าซรายอื่นๆ (Pool Gas ส่วนเหลือ) ในราคา 542 บาทต่อล้านบีทียู
2. ให้ กฟผ.ปรับสมมติฐานราคาเชื้อเพลิงตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานและมติ กพช. โดยปรับการคำนวณ Ft ใหม่โดยใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในราคา 238 บาทต่อล้านบีทียูทดแทนราคาก๊าซธรรมชาติเดิมสำหรับการคิดค่า Ft ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย และใช้ราคาก๊าซธรรมชาติส่วนที่เหลือ (Pool Gas ส่วนเหลือ) ในราคา 542 บาทต่อล้านบีทียูทดแทนราคาก๊าซธรรมชาติเดิมสำหรับสำหรับการคิดค่า Ft ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ
3. กกพ.พิจารณาภาระการเงินและภาระหนี้สินสะสมของ กฟผ.ให้มีการทยอยจ่ายคืนหนี้ Ft คงค้างเพื่อไม่ให้เป็นภาระปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ. และไม่เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้ามากเกินไป โดย กฟผ.ขอเสนอให้เฉลี่ยยอดหนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 122,257 ล้านบาท โดยเฉลี่ยการเรียกเก็บไปเป็นเวลา 2 ปี
“กกพ.ในการประชุมครั้งที่ 58/2565 (ครั้งที่ 825) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 พิจารณาผลการคำนวณค่า Ft ที่ กฟผ. เสนอตามแนวทางที่ กพช.เห็นชอบ ประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการคำนวณค่า Ft ตามแนวทางดังกล่าวนี้ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย ปัจจัยหลักที่กระทบค่า Ft ในรอบนี้มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามาทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมาตามการประมาณการ ปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคิดค่า Ft ในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 และภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้ Ft กฟผ.” นายคมกฤชกล่าว
สมมติฐานและการบริหารเชื้อเพลิงที่ ปตท. และ กฟผ.ปรับปรุงตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ม.ค.-เม.ย. 66 ตามมติ กพช.สรุปได้ ดังนี้