xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เปิด 4 เหตุผลตอกย้ำรัฐเบรกขึ้นค่าไฟงวดใหม่หวั่นซ้ำเติม ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.”ืยังคงตอกย้ำข้อเสนอให้ภาครัฐพิจารณาชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 66 ออกไปก่อนเพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่จะสูงขึ้นจากสารพัดปัจจัยซึ่งท้ายสุดอาจต้องปรับราคาสินค้า เปิดรายละเอียด 4 เหตุผลสำคัญที่รัฐควรเบรกการปรับขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.สนับสนุนให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ออกไปก่อนเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประกอบกับที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งจากค่าพลังงาน วัตถุดิบ ค่าแรง ต่างทยอยปรับขึ้นจึงอาจส่งผลให้สินค้าบางประเภทอาจต้องทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก

“ส.อ.ท.ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. และ กกร.ต่างเห็นด้วยที่จะเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวดใหม่ออกไปก่อน ซึ่งการที่รัฐได้มีมาตรการดูแลค่าไฟในส่วนของภาคครัวเรือนก็ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่หากจะดีคือควรจะต้องดูแลทั้งระบบเพราะหากผู้ประกอบการต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ต้องผลักภาระไปยังราคาสินค้า สุดท้ายก็จะวนกลับมากระทบต่อประชาชนเช่นกัน” นายเกรียงไกรกล่าว


นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า กกร.ได้เห็นชอบต่อข้อเสนอ ส.อ.ท.ที่ให้ภาครัฐพิจารณาชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 66) ออกไปโดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณา 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 65) ได้ถูกปรับขึ้นมาแล้วมากถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการผลิตอยู่แล้วหากปรับขึ้นอีกงวด (ม.ค.-เม.ย. 66) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น 3 แนวทางที่จะขยับเป็น 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย จะเป็นการปรับขึ้นแบบรุนแรงสองงวดติดต่อกันจะกระทบรุนแรงมากจนยากจะปรับตัวของทุกภาคส่วนจนมีผลทำให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาดได้

2. กกพ.ได้มีการประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้าว่าจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากการผลิตก๊าซในอ่าวไทยมากขึ้นและราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะลดลงสู่ระดับปกติได้ จึงมองว่าควรเป็นโอกาสให้ชะลอการขึ้นค่า Ft งวดใหม่ไว้ก่อน เมื่อต้นทุนค่าไฟลดลงต่ำกว่าค่า Ft แล้วจึงบริหารค่า Ft อย่างเหมาะสมเพื่อชดเชยและลดภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระแทนประชาชนผู้ใช้ไฟในปัจจุบัน

3. ภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนราว 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้กฟผ.สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้นและยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปีโดยวิธีการต่างๆ ได้ เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น

4. ในสถานการณ์ค่าไฟสูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัวกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่าปกติจนผู้ใช้ไฟต้องแบกรับภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสูงถึง 30,665 ล้านบาท (งวด ก.ย.-ธ.ค. 65) และ 32,420 ล้านบาท (งวด ม.ค.-เม.ย. 66) จึงควรให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง เร่งการตัดทอนการลงทุนอย่างเข้มข้นเพื่อนำเงินส่วนนี้มาช่วยลดค่าไฟฟ้าเนื่องจากเป็นเงินซึ่ง 3 การไฟฟ้าได้เรียกเก็บไว้ในค่าไฟฟ้าฐานล่วงหน้าอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น