xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นเตรียมขึ้นค่าไฟปี 66 ด้านผู้เชี่ยวชาญพลังงานเผยสาเหตุ ทำไมค่าไฟต้องปรับขึ้นอีก?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
กกพ.ประกาศชัดปีหน้าค่าไฟขึ้นอีก ต้องปรับค่า Ft ให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง “คมกฤช” แจง กกพ.เสนอ 3 ทางเลือกให้ประชาชน พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ กกพ.วันที่ 14-27 พ.ย. 65 ด้าน “วีระพล” อดีต กกพ. เผยว่าปีหน้ายังเป็นขาขึ้นของค่าไฟ จากสาเหตุก๊าซอ่าวไม่เพียงพอ ต้องนำเข้า LNG ราคาแพง และผลจากค่าบาทอ่อนทำให้ประเทศเสียดุลการค้า

วันนี้ (17 พ.ย.) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาแถลงข่าวชี้แจงผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะมีผลต่อค่าไฟเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 โดยเป็นการชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตั้งแต่วันที่ 14-17 พ.ย. 65 ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. และจะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ประกอบการพิจารณาเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 1 ธ.ค. 65 ให้มีผลบังคับใช้ทันค่าไฟงวดใหม่ โดยแนวทางขึ้นค่าไฟมี 3 ทางเลือก คือ
กรณีที่ 1 เก็บค่า Ft เดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 224.98 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์/หน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดยทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาท/หน่วย

กรณีที่ 2 เก็บค่า Ft เดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 191.64 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์/หน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาท/หน่วย

กรณีที่ 3 เก็บค่า Ft เดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาท/หน่วย

ผู้เชี่ยวชาญพลังงานเผยสาเหตุแท้จริง ทำไมปีหน้าค่าไฟยังต้องปรับขึ้นอีก?

ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้กล่าวในรายการ SMART ENERGY ทางช่อง 5 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานว่า สาเหตุหลักของค่าไฟแพงคือ การขาดแคลนเชื้อเพลิงเพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัญญาจากบริษัทเอกชนเดิมมาเป็น ปตท.สผ. ทำให้ก๊าซในอ่าวไทยลดลงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ก๊าซที่นำเข้าจากพม่าก็ลดลงกว่าแผนที่เคยคาดไว้

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องนำเข้า LNG ในปริมาณเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ LNG ในตลาดโลกราคาแพงมาก เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน บวกกับภาวะที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนตัว จากเดิมที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ส่งผลต่อค่าไฟที่จะต้องปรับขึ้นอีกประมาณ 5-6 สตางค์ ดังนั้น สาเหตุที่แท้จริงของค่าไฟแพงคือ 1. ต้องนำเข้า LNG ในปริมาณมากขึ้นเพราะก๊าซในอ่าวไทยน้อยลง 2. ต้องซื้อ LNG แพง บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทอ่อนค่าลง

สุดท้ายแล้วเราต้องยอมรับก่อนว่าตอนนี้วิกฤตพลังงานเป็นวิกฤตในสเกลระดับโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยที่ต้องเผชิญปัญหาค่าไฟแพง แต่ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรง ต่างก็ต้องเจอกับปัญหาค่าไฟแพงไม่ต่างกับเรา ดังนั้น การลดภาระค่าไฟที่ดีที่สุดคือการที่ทุกคนจะต้องช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพราะการใช้ไฟน้อยลงก็จะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยจะได้ไม่ต้องขาดดุลทางการค้ามากขึ้นไปอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น