ส.อ.ท.ยอมรับว่าหากรัฐไม่ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 66) ที่สุดจะต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 5-12% ตามภาระต้นทุนที่แบกเพิ่ม แถมยังบั่นทอนการย้ายฐานการผลิตมาไทยเหตุค่าไฟไม่จูงใจเท่าเพื่อนบ้าน วอนรัฐชะลอขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หากรัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 เพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันเฉลี่ยค่าไฟรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉลี่ยราว 5-12% ขณะเดียวกันยังจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย
“เราต้องยอมรับว่าปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถดถอยแต่ละประเทศมีการแข่งขันกันสูงขึ้นทั้งการส่งออก และการดึงดูดการลงทุนที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ไทยเรามีจุดเด่นหลายอย่างแต่ค่าไฟที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่อยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วยส่งผลต่อขีดแข่งขันของเรายิ่งลดต่ำลงไปอีก โดยจากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่าค่าไฟฟ้าของไทยค่อนข้างสูงและเมื่อต้องเสนอเข้าบอร์ดบริษัทแม่มักจะไม่ผ่านในประเด็นนี้ ซึ่งเป็นการบั่นทอนการตัดสินใจการลงทุนของต่างชาติ” นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ต้นทุนไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากน้อยต่างกันไปตามแต่ละประเภทโดยภาคการผลิตที่ใช้ไฟสูงอาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม เยื่อกระดาษ ปูนซิเมนต์ กระจก ฯลฯ และที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าเอฟทีก่อนหน้านั้นมีผลกระทบต่อต้นทุนราว 5-12% หากขยับค่าไฟคาดว่าต้นทุนเฉลี่ยจะเพิ่มในระดับดังกล่าวและก็จะนำไปสู่การปรับราคาเพ่ิมในอัตรานี้โดยทยอยปรับส่วนจะมากน้อยก็อยู่ที่แต่ละภาคการผลิต
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้เสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) และทำหนังสือไปยังกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ฯลฯ เพื่อขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 66)โดยให้หันมาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยยึดหลักการทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแบกภาระ
“ต้องยอมรับว่าต้นเหตุแห่งวิกฤตค่าไฟหลักๆ มาจากการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณที่ล่าช้าจนทำให้ต้องไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรที่ราคาสูงมากมาผลิตไฟแทน และขาดแผนรับมือล่วงหน้าอย่างทันท่วงที” นายอิศเรศกล่าว
นอกจากนี้ ค่าไฟที่สูงขึ้นมาจากสำรองที่สูงกว่าปกติจากการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการ แต่สัญญายังกำหนดให้รับซื้อไฟจากเอกชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (AP) คือไม่ผลิตไฟก็ต้องจ่ายเงินให้กลายเป็นภาระต้นทุนยิ่งสูงขึ้น และเป็นการเปิดซื้อไฟมากเกินความจำเป็น ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไขประเด็นเหล่านี้และเร่งเปิดไฟฟ้าเสรี ฯลฯ