xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” คาด GDP ปี 66 โต 3-3.5% ท่องเที่ยวหนุนจ่อยื่นพลังงานตรึงค่าไฟหวั่นฉุดรั้ง ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กกร.” ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 GDP ยังโตได้ต่อ 3-3.5% ส่งออกโต 1-2% เงินเฟ้อ 2.7-3.2% โดยได้รับแรงหนุนจากท่องเที่ยวฟื้นตัวแต่ยังมีข้อจำกัดเศรษฐกิจโลกถดถอย ผวาค่าไฟงวดใหม่ขึ้นซ้ำเติมการฟื้นตัว เตรียมร่อนหนังสือถึงกระทรวงพลังงานให้ตรึงค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย. 66 คงเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย มองนโยบายหาเสียงค่าจ้าง 600 บาทต่อวันไม่ใช่เวลา ยันต้องผ่านกลไกไตรภาคี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
เปิดเผยว่า กกร.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 2566 โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะโต 3-3.5% จากปี 65 ที่คาดว่าจะโต 3.2% การส่งออกขยายตัว 1-2% จากปี 65 ที่คาดว่าจะเติบโต 7.25% และเงินเฟ้อ 2.7-3.2% จากปีนี้ 6.2% ทั้งนี้มาจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนภายใต้ข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

“เศรษฐกิจปี 65 เป็นไปตามกรอบที่ประเมินไว้จากอานิสงส์ส่งออก และการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว แต่ส่งออกเริ่มมีผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักชะลอที่ทำให้เดือน ต.ค.หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ดังนั้นปี 2566 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเงินตึงตัวและเงินเฟ้อจึงกระทบต่อการส่งออกไทยที่จะชะลอตัวในระยะต่อไป ดังนั้นเศรษฐกิจไทยปี 66 จะเหลือเครื่องยนต์เดียวคือภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า 20 ล้านคนเศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และยังมีสัญญาณเปราะบาง” นายสนั่นกล่าว

อย่างไรก็ตาม กกร.ได้หารือถึงประเด็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังคววามเห็นปรับขึ้น 3 แนวทาง คือ ค่าไฟเฉลี่ยจะเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย 5.70 บาทต่อหน่วย และ 6.03 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ โดย กกร.มองว่าการปรับขึ้นค่าไฟจะเป็นการกระทบรุนแรงต่อค่าครองชีพและต้นทุนภาคธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นเป็นการซ้ำเติมที่ทั้งภาคผลิตและบริการกำลังจะฟื้นตัว ดังนั้นจึงจะทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าเอฟทีโดยให้คงค่าไฟเฉลี่ยไว้ที่ปัจจุบัน 4.72 บาทต่อหน่วยภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ ในส่วนของค่าแรงที่พรรคการเมืองได้ชูประเด็นการขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวัน และปริญญาตรีเป็น 25,000 บาทต่อเดือนในอีก 5 ปีข้างหน้า เห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาโดยการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีมีความเหมาะสมแล้วเพราะจะคำนึงถึงเงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้าง ณ เวลานั้นๆ ที่จะมีความสมดุล ดังนั้นการระบุถึงการขึ้นค่าแรงล่วงหน้าดังกล่าวจึงไม่ใช่อยู่ในช่วงเวลาที่จะมาพูดในขณะนี้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามทิศทางตลาดโลกนั้น กกร.เห็นว่าควรจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อชะลอผลกระทบต่อภาคธุรกิจและลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีรายได้กลับมาไม่เต็มที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบมากสุด


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.มีความกังวลค่าไฟที่จะปรับขึ้นในงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 66) ที่มีการขึ้นต่อเนื่องซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้มีโอกาสลดลงได้อีกจากปี 65 ที่ไทยถูกจัดอันดับขีดแข่งขันลดลง 5 อันดับมาอยู่ที่ 33 ของโลก เนื่องจากค่าไฟหากเทียบกับคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนามพบว่ามีค่าไฟอยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ซึ่งนั่นยังไม่รวมกับข้อได้เปรียบอื่นๆ ของเวียดนาม เช่น มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA มากกว่าไทย ฯลฯ ขณะเดียวกันค่าไฟที่เพิ่มจะทำให้การดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยลดความน่าสนใจลงอีกด้วย

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ขณะนี้อยู่ที่ 1.25% อย่างไรก็ตาม จากการที่พบว่ามีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางกว่า 3 ล้านรายทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าจัดมหกรรมแก้หนี้ทั่วประเทศที่ครั้งต่อไปจะเป็น จ.เชียงใหม่ และต้นม.ค.จะเป็นที่ชลบุรี และหาดใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น