xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรชั้นนำรวมพลังแก้วิกฤตพลังงาน สร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



70 องค์กรชั้นนำภาครัฐเอกชน และภาคอสังหาฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards” เดินหน้าปลุกกระแสอนุรักษ์พลังงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สร้างต้นแบบองค์กรใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูง ตั้งเป้าช่วยไทยลดการนำเข้าพลังงานกว่า 5,400 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าแอลเอ็นจี 90,000 ตัน บรรเทาผลกระทบวิกฤตราคาพลังงานอย่างยั่งยืน ด้าน "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" ระบุ ต้นเหตุที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นทั้งหมดอยู่ที่ การนำเข้า ตัวเร่งดีดหน่วยค่าไฟแพงขึ้นไปถึง 7-8 บาท มั่นใจความสำเร็จการประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ช่วยลดนำเข้าพลังานถึงร้อยละ 30 ได้ ช่วยค่าไฟฟ้าได้มาก สร้างความยั่งยืนให้ประเทศไทยในระยะยาว

จากสถานการณ์ค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักเป็นผลจากพลังงานนำเข้าที่มีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพิ่มภาระให้ภาคครัวเรือน ล่าสุด ภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงาน ได้เดินหน้าที่จะแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน ภายใต้กิจกรรมเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในกิจกรรมดังกล่าว โดยมี ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมด้วยนายนพดล ปิ่นสุภา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม นายพิชัย จิราธิวัฒน์ ที่ปรึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงานด้านพลังงาน หอการค้าไทย และ ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชนชั้นนำกว่า 70 แห่ง และภาคอสังหาฯ แสดงความมุ่งมั่นร่วมกันดำเนินการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กร พร้อมกระตุ้นให้เกิดกระแสความความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของราคาพลังงาน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันนโยบายการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประกาศเจตนารมณ์จากภาครัฐและเอกชนทั้ง 70 องค์กรในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญให้เกิดการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงาน สร้างความร่วมมือการให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้จากมาตรการที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในองค์กรแล้ว คาดว่าจะส่งผลในภาพรวมเกิดการลดใช้ไฟฟ้าได้กว่า 675 ล้านหน่วย/ปี ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าพลังงานของประเทศได้สูงถึง 5,400 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าแอลเอ็นจี 90,000 ตัน บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 296,000 ตันคาร์บอน/ปี อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้ ในปี ค.ศ.2050


"จากการทำงานของรัฐบาล สิ่งที่เราพบเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาพลังงานที่สูงขึ้นมาทั้งหมด เกิดจากปริมาณพลังงานก้อนสุดท้าย คือ การนำเข้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า และแก๊สธรรมชาติ ไม่รู้จะทำอย่างไร การให้ประชาชนประหยัดทำได้ระดับหนึ่ง แต่ตัวเลขไม่ได้ลดลงมากนัก ซึ่งเราเข้าใจดี เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ความท้าทายจะไปอยู่กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมต่างๆ และการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันครั้งนี้ หากมีเป้าลดลง เช่น ลงร้อยละ 10 ร้อยละ 20 และหากสามารถลงถึงร้อยละ 30 ราคาพลังงานที่กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นราคาไฟฟ้า และแก๊สธรรมชาติจะไม่ปรับขึ้นเลย เพราะเป็นพลังงานที่เราผลิตได้ในประเทศไทย และที่แพงเพราะเป็นส่วนที่เกิน แต่ที่แพง แพงหลายเท่าตัว ไม่ใช่แพงแค่ 1 หน่วย เป็น 2 หน่วย ตามเงินเฟ้อไม่ใช่ แต่กระโดดจาก 10 หน่วย เพิ่มขึ้น 30-40 หน่วย แต่แพงไปถึง 4 เท่าตัว หรือแพงขึ้นไปร้อยละ 30 ทำให้ต้นทุนพลังงานเราสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งถ้าเราร่วมมือกันจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมผ่านไปได้ แตกต่างกับภาคครัวเรือนที่มีหลายล้านครัวเรือนที่ปรับตัวลำบาก ดังนั้น อยากให้กระทรวงพลังงานสื่อสารไปว่า พลังงานหน่วยสุดท้ายแพงมากจริงๆ พลังงานหน่วยสุดท้ายที่เอาเข้ามามีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงถึง 7-8 บาท ถ้าไม่มีตรงนี้ อย่างไรค่าไฟฟ้าต้องลดลง" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดี พพ. กล่าวว่า องค์กรที่มาร่วมกันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตด้านพลังงาน ด้วยการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในองค์กร สำหรับตัวอย่างมาตรการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือในกิจกรรมครั้งนี้ เช่น มาตรการลดการสูญเสียพลังงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ โดยใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรการติดตั้งระบบ Monitoring and control เพื่อประเมินค่าการใช้พลังงาน และการนำพลังงานทดแทนมาใช้งาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และระบบพลังงานชีวภาพ ร่วมกับระบบควบคุมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น