ประธาน ส.อ.ท.เปิดมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังคงเปราะบางและผันผวนตามสถานการณ์ของโลก ลุ้น "สมการ" สงครามรัสเซีย-ยูเครนเปลี่ยนหลังผู้นำแต่ละประเทศขยับ พร้อมเจรจามีโอกาสพลิก ศก.ครึ่งปีหลัง แต่ ศก.ภายในของไทยยังวิตกปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังพุ่งสูงจากค่าแรง ค่าไฟ ดบ. รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่แตะ 1.1 ล้านล้านบาทที่อาจบั่นทอน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังคงเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากสมการหลักของสงครามรัสเซีย-ยูเครนหากยังคงยืดเยื้อและบานปลายเศรษฐกิจโลกย่อมถดถอยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาล่าสุดมีแนวโน้มของความพยายามที่จะยุติความขัดแย้งจากการที่ผู้นำจากสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนไหวเปิดทางการเจรจากับทางรัสเซีย และจีนอย่างต่อเนื่องทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหากนำไปสู่หนทางที่จะยุติสงครามอาจพลิกให้เศรษฐกิจโลกกลับมาอยู่ในจุดที่จะทยอยฟื้นตัวได้เช่นกัน
“เมื่อเร็วๆ นี้ทางประธานคณะมนตรีอียูได้หารือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กระตุ้นให้ใช้การเจรจาและวิธีแก้ปัญหาทางการเมือง ในการแก้ไขความขัดแย้งยูเครน รวมถึงล่าสุดที่มีข่าวประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าเขาพร้อมเจรจากับผู้นำรัสเซีย ฯลฯ หากสัญญาณเหล่านี้ดีขึ้นปัจจัยลบที่รุนแรงก็จะลดต่ำลงและเศรษฐกิจโลกอาจจะกลับมาได้ในครึ่งปีหลังของปี 66 ดังนั้น ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีความผันผวนสูงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ผลของการระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้ปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบ ที่เพิ่มสูงจนทำให้ประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ต้องปรับนโยบายดอกเบี้ยแรงควบคู่กับการทำ Quantitative Tightening (QT) หรือดึงสภาพคล่องออกจากระบบเพื่อลดความร้อนแรงของ ศก.จากการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QT) ก่อนหน้า ซึ่งแนวทางดังกล่าวแลกมาด้วยการเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอยที่ขณะนี้เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนและทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องปรับดอกเบี้ยตามมากน้อยขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศที่ต่างกันไปซึ่งล้วนบั่นทอนเศรษฐกิจให้ชะลอตัว
นายเกรียงไกรกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเมื่อเศรษฐกิจของคู่ค้าชะลอตัวย่อมได้รับผลกระทบ สะท้อนมูลค่าส่งออกเดือน ต.ค.ที่ติดลบ 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยมีการคาดการณ์ว่าส่งออกของไทยปี 2566 จะเติบโต 3-4% ซึ่งลดลงจากฐานที่สูงของปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้ 8% และผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าปี 2566 จะไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน
ผวาค่าไฟ-ค่าแรง-ดบ.หนุนต้นทุนปี 66 ทะยานต่อ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจภายในของไทยเป็นสิ่งที่น่ากังวลเนื่องจากมีแนวโน้มการแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยหลักๆ ทั้งจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผล 1 ต.ค. 65 เฉลี่ย 5-8% วัตถุดิบหลายรายการที่ยังคงมีทิศทางที่ทรงตัวระดับสูง ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ม.ค.-เม.ย. 66 ที่คาดว่าจะปรับขึ้นเฉลี่ยจาก 4.72 บาทต่อหน่วยเป็นอย่างน้อย 5.37 บาทต่อหน่วย รวมไปถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มอีกด้วย เหล่านี้ล้วนบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ ภาระหนี้ (NPL) ภาคครัวเรือนที่แตะระดับ 1 ล้านล้านบาทนั้นอาจเป็นระเบิดเวลาที่ต้องระวังเพราะจะกระทบต่อแรงซื้อและเศรษฐกิจไทยหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ซึ่งนั่นยังไม่รวมถึงหนี้นอกระบบ เพราะขณะนี้แรงซื้อของคนไทยเองก็ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญมากนัก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐที่กระตุ้น ขณะที่การปรับราคาสินค้าของผู้ประกอบการที่เน้นตลาดในประเทศยังอยู่ในภาวะลำบากและหลายส่วนยังคงต้องแบกรับภาระไว้โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก
“ค่าไฟของไทยขณะนี้ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่ผลิตสินค้าลักษณะใกล้เคียงกันทำให้ขีดแข่งขันเราต่ำ ส.อ.ท.ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพกว่านี้มาโดยตลอด เพราะจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว